ญี่ปุ่นลดการช่วยเหลือธุรกิจรายย่อย เน้นส่งเสริมการซื้อ-ควบรวมกิจการ

คนเดินย่านการค้า
ผู้คนเดินผ่านถนนในตลาดอาเมโยโกะ เขตอุเอโนะ กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2021 / AFP /

รัฐบาลญี่ปุ่นหวังฟื้นคืนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ใช้วิธีนอกกรอบ ลดการช่วยเหลือธุรกิจรายย่อย ปล่อยให้ธุรกิจล้มละลาย และผลักดันให้มีการเข้าซื้อ-ควบรวมกิจการ

วันที่ 16 กรกฎาคม 2024 รอยเตอร์ (Reuters) รายงานถึงปัญหาความยากลำบากของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กของญี่ปุ่น และแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยมีการอ้างข้อมูลจากบริษัทวิจัย เทโคกุ ดาตาแบงก์ (Teikoku Databank) ว่า ในปี 2023 ที่ผ่านมา มีบริษัทญี่ปุ่นกว่า 251,000 บริษัท ที่เป็น “บริษัทซอมบี้” ทำรายได้ได้ไม่พอสำหรับการชำระหนี้ โดยบริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่มีพนักงานไม่เกิน 300 คน 

รอยเตอร์ระบุว่า เป็นเวลาหลายปีที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจซบเซาและอัตราการเกิดลดลง ทำให้บริษัทญี่ปุ่นทั้งขนาดกลางและขนาดเล็กเผชิญความยากลำบากในการทำธุรกิจ และต่างออกมาร้องขอความช่วยเหลือด้านเงินทุนจากทางภาครัฐ เนื่องด้วยการสนับสนุนที่มีตั้งแต่ช่วงโรคการระบาดโควิด-19 เริ่มลดลง แถมอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในปี 2024 นี้ยังเพิ่มสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี

อย่างไรก็ตาม จากการที่รอยเตอร์ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของทางการญี่ปุ่น 3 คน ได้ข้อมูลว่า รัฐบาลญี่ปุ่นเต็มใจที่จะปล่อยให้บริษัทที่มีผลประกอบการไม่ดีเหล่านั้นต้องปิดตัวลงไป และเจ้าหน้าที่สามคนยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างบริษัทที่สามารถสร้างการเติบโตได้มาแทนที่บริษัทที่ไม่สามารถไปต่อได้ 

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งบอกว่า เพื่อให้มั่นใจว่าแผนการที่จะทำให้มีบริษัทที่เติบโตเข้ามาแทนที่บริษัทที่ล้มละลายได้นั้น รัฐบาลญี่ปุ่นจะใช้วิธีปล่อยให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถเติบโตได้ผ่านการควบรวมกิจการและเข้าซื้อกิจการ 

ถือเป็นแนวทางที่พลิกขั้วไปจากแนวทางแบบเดิมของญี่ปุ่น ที่มักจะหลีกเลี่ยงการปล่อยให้ธุรกิจล้มละลายและรักษาไว้ซึ่งตำแหน่งงาน

Advertisment

โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสของญี่ปุ่นยังกล่าวอีกว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถจัดหาพนักงานและการลงทุนให้กับบริษัทที่มีผลิตผลมากที่สุดในตลาดแรงงานที่ตึงตัว และช่วยเพิ่มค่าจ้างให้สูงขึ้น

รัฐบาลญี่ปุ่นคาดหวังว่าการเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปในรูปแบบของการควบรวมกิจการและการเข้าซื้อกิจการ มากกว่าที่จะเป็นการล้มละลายและการเลิกจ้าง รัฐบาลจึงได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการควบรวมกิจการและการเข้าซื้อกิจการแก่ธุรกิจขนาดเล็กด้วย 

Advertisment

ซึ่งหากบริษัทใดไม่อยากควบรวมกิจการ หรือเข้าซื้อกิจการ อีกหนึ่งทางเลือกที่บริษัทเหล่านั้นจะทำได้ก็คือ การเพิ่มราคาสินค้า ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากญี่ปุ่นประสบภาวะเงินฝืดหลายปี และตัวผู้ประกอบการเองก็กลัวเสียลูกค้า และอยากรับผิดชอบพนักงานในบริษัท

กระบวนการคิดที่พลิกไปจากวิธีการดั้งเดิมนี้ ถูกคัดค้านอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น ได้กล่าวว่า ยังคงมีเงินทุนอุดหนุนและมาตรการช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กอยู่ เพียงแต่บริษัทเหล่านั้นจำเป็นต้องเพิ่มความสามารถในการทำรายได้ผ่านการลงทุนและเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) 

ทั้งยังกล่าวเสริมอีกว่า การล้มละลายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย กลับมาอยู่ในระดับเดียวกับก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 ในขณะที่คนทำงานก็มีการเปลี่ยนงานมากขึ้น เพื่อหางานที่สภาพแวดล้อมและเงื่อนไขที่ดีขึ้น เช่นมีค่าจ้างเพิ่มขึ้น