วัฒนธรรมเกาหลี จะดูดเงินทั่วโลกได้ปีละ 5 ล้านล้านบาท ภายในปี 2030

เกาหลีใต้ K-pop
แฟน ๆ วง BTS จากนานาประเทศเข้าร่วมงาน "BTS 10th Anniversary FESTA @ Yeouido" ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2023 (ภาพโดย Anthony WALLACE / AFP)

รายงานใหม่เผยคาดการณ์การใช้จ่ายทั่วโลกที่จ่ายไปกับสิ่งที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมเกาหลี (K-Culture) จะเพิ่มขึ้นเป็น 143,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.16 ล้านล้านบาท) ต่อปี ภายในปี 2030 หรือเกือบสองเท่าของระดับปัจจุบัน

บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2025 ว่า งานวิจัยใหม่ที่เผยแพร่โดยติ๊กต๊อก (TikTok) และบริษัทวิจัยตลาด คันทาร์ (Kantar) คาดการณ์ว่ายอดรวมการใช้จ่ายทั่วโลกที่จ่ายไปกับสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเกาหลี หรือ เค-คัลเจอร์ (K-culture) จะเพิ่มขึ้นเป็น 143,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.16 ล้านล้านบาท) ต่อปี ภายในปี 2030 หรือเกือบสองเท่าของระดับปัจจุบัน 

ปัจจุบันขนาดของตลาด “ฮัลรยู” หรือคลื่นกระแสความนิยมในเกาหลี ซึ่งครอบคลุมการส่งออกทางวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ทั้งหมด คาดว่ามีมูลค่า 76,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.74 ล้านล้านบาท) และเนื้อหาไวรัลเกี่ยวกับ เค-คัลเจอร์ น่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนในการดึงดูดผู้ชมได้มากขึ้นในตลาดสำคัญ ๆ อย่างสหรัฐอเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายงานระบุว่า การใช้จ่ายโดยรวมอาจสูงถึง 198,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7.15 ล้านล้านบาท) ต่อปี ภายในสิ้นทศวรรษนี้ (ปี 2030) หากผู้บริโภคที่มีศักยภาพทั้งหมดที่สนใจวัฒนธรรมเกาหลีเริ่มซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค การบริการ และความบันเทิงของเกาหลี

สำหรับคาดการณ์ระยะสั้นเฉพาะปี 2024 นี้ รายงานคาดว่า การใช้จ่ายทั่วโลกสำหรับเพลงเกาหลี รวมถึงตั๋วคอนเสิร์ตและคอนเทนต์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 11,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 418,700 ล้านบาท) ขณะที่การใช้จ่ายในผลิตภัณฑ์ความงามคาดว่าจะเติบโตเป็นมากกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 721,900 ล้านบาท) และอาหารเกาหลีก็คาดว่าจะโตขึ้นเป็นมากกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน 

และโมเมนตัมมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปในปีหน้า โดยจากการสำรวจผู้ใช้งานติ๊กต๊อก พบว่าผู้ใช้งาน 7 ใน 10 คนในสหรัฐและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชี้ว่าการใช้จ่ายในสินค้าอาหารเกาหลีและผลิตภัณฑ์ความงามจากเกาหลีจะเพิ่มขึ้นในปีหน้า

ADVERTISMENT

เกาหลีใต้มีชื่อเสียงในด้านการส่งออกสินค้าที่จับต้องได้ ตั้งแต่เซมิคอนดักเตอร์ไปจนถึงรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเหล่านี้ยังคงครองแชมป์ในแง่เศรษฐกิจ แต่กระแสความนิยมในเกาหลี ซึ่งมีผู้คนเข้าถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ กำลังส่งผลกระทบเป็นระลอกคลื่น และจะเพิ่มซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศและแบรนด์ต่าง ๆ และมันได้สร้างเศรษฐีรุ่นใหม่จากแวดวงครีเอทีฟอย่างเค-พ็อปและเว็บตูน (Webtoon) ไปแล้ว

ความนิยมที่เพิ่มสูงขึ้นของสิ่งที่เรียกว่าคอนเทนต์เกาหลี หรือ เค-คอนเทนต์ (K-content) ได้รับการขยายให้กว้างขึ้นโดยแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ซึ่งผู้ใช้ต่างชื่นชอบซีรีส์และภาพยนตร์เกาหลี เพลงเค-พ็อป อาหาร และเครื่องสำอาง 

ADVERTISMENT

ในแพลตฟอร์มติ๊กต๊อกเอง ซึ่งเป็นแฟลตฟอร์มคลิปวิดีโอสั้นของคนชอบการเต้น ได้กลายเป็นแหล่งรวมตัวของแฟน ๆ เค-พ็อป และเนื้อหาที่ผู้คนโพสต์ลงในติ๊กต๊อกก็มีการขยายไปสู่วัฒนธรรมเกาหลีในแง่มุมอื่น ๆ มากขึ้น 

ซน ฮยอนโฮ (Son Hyunho) ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายโซลูชั่นธุรกิจระดับโลกของติ๊กต๊อก เกาหลี (TikTok Korea) ชี้ให้เห็นว่า ถ้าดูเรื่องราวความสำเร็จของเทรนด์ระดับโลกของเนื้อหาเกาหลี (เค-คอนเทนต์) มันมักจะถูกกระตุ้นโดยเนื้อหารองจากครีเอเตอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำหน้าที่เป็นประตูและศูนย์กลางสำหรับกระแสไวรัลระดับโลกของเค-คอนเทนต์

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ส่งออกวัฒนธรรมรุ่นใหญ่แต่ดั้งเดิมของเอเชียตะวันออก มูลค่าการส่งออกของเกาหลีใต้ยังค่อนข้างน้อย แต่โซเชียลมีเดียกำลังช่วยลดช่องว่างของสองประเทศให้แคบลง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง