
ฮอนด้าเตรียมลดการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์เบนซินในจีน 30% คิดเป็นราว 10% ของการผลิตทั้งหมดของฮอนด้าทั่วโลก หลังค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นพ่ายรถยนต์จีน ยอดขายลดฮวบ เนื่องจากการผลิตรถยนต์ที่ล้นเกินของจีน การทำสงครามราคา อีกทั้งการสนับสนุนจากรัฐ
วันที่ 25 กรกฎาคม 2024 นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่า ฮอนด้า มอเตอร์ (Honda Motor) บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นวางแผนหั่นกำลังการผลิตรถยนต์ใช้น้ำมันเบนซินในจีนลง 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตปัจจุบัน คิดเป็น 10% ของการผลิตทั่วโลก หลังจากที่รถญี่ปุ่นมียอดขายลดลง กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั่วห่วงโซ่อุปทานของจีน
ฮอนด้าจะยุติสายพานการผลิต 3 จากทั้งหมด 7 สายพานการผลิตในประเทศจีน ทำให้การผลิตรถยนต์พลังงานน้ำมันของฮอนด้าลดลงจาก 1.49 ล้านคันต่อปี เป็น 1 ล้านคันต่อปี นับเป็นการลดกำลังการผลิตครั้งแรกในจีนของฮอนด้า และเป็นการลดครั้งใหญ่ที่สุดโดยผู้ผลิตยานยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ท่ามกลางเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำ
โดยฮอนด้ากำลังเจรจากับบริษัทร่วมทุน ตงเฟิง มอเตอร์ กรุ๊ป (Dongfeng Motor Group) และกว่างโจว ออโตโมบิล กรุ๊ป (Guangzhou Automobile Group) ซึ่งคาดว่าจะตัดสินใจอย่างเป็นทางการให้เร็วที่สุดภายในปีนี้
ความเคลื่อนไหวนี้ของฮอนด้าเกิดขึ้นเนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ในจีนขยายการผลิตจนล้นเกิน โดยไม่คำนึงถึงอุปสงค์ที่มีอยู่ในตลาด รถยนต์จีนราคาถูกจึงไหลบ่าเข้าไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้การแข่งขันด้านราคาในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผู้ผลิตยานยนต์ญี่ปุ่นครองอยู่แต่เดิมทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
การปรับลดขนาดการผลิตในจีนแสดงถึงการปลีกตัวออกจากแนวทางขยายการผลิตแบบเดิมที่ใช้มาตั้งแต่สมัยทศวรรษ 1990 ในช่วงที่จีนกลายเป็นศูนย์การผลิตที่ใหญ่ที่สุดของฮอนด้าแซงหน้าสหรัฐอเมริกา
นอกจากฮอนด้าผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น เจ้าอื่นก็ได้ปรับโครงสร้างการดำเนินงานในจีนใหม่ด้วยเช่นกัน อย่างเช่น ฮีโน่ มอเตอร์ส (Hino Motors) เตรียมเลิกกิจการบริษัทย่อย เซี่ยงไฮ้ ฮีโน่ เอนจิน (Shanghai Hino Engine) ในปี 2025 หลังจากที่บริษัทร่วมทุนแห่งนี้ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2003 มียอดขายเครื่องยนต์ให้กับรถยนต์เชิงพาณิชย์ลดลง ท่ามกลางการแข่งขันในจีนที่ดุเดือดยิ่งขึ้น
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นิสสัน มอเตอร์ (Nissan Motor) ปิดโรงงานผลิตรถยนต์ใช้น้ำมันในมณฑลเจียงซู ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของประเทศจีน เป็นการหั่นกำลังการผลิตลง 10% และอาจปิดโรงงานเพิ่มเติม เนื่องจากโรงงานในจีนโดยรวมยังดำเนินการผลิตเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตทั้งหมด
ทั้งนี้ ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นได้เข้าไปขยายการดำเนินงานในจีนตั้งทศวรรษ 2000 ผ่านการตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัทจีน ตามคำสั่งของรัฐบาลที่ต้องการสร้างอุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศ ซึ่งช่วงที่ยอดขายของรถยนต์ญี่ปุ่นขึ้นถึงจุดสูงสุดในปี 2020 รถญี่ปุ่นครองส่วนแบ่งตลาดในจีนรวมกัน 20%
อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งของรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปจากญี่ปุ่นก็ไม่ได้ช่วยให้ค่ายรถญี่ปุ่นตามทันการเปลี่ยนผ่านตลาดรถยนต์จีนไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน และการแข่งขันด้านราคา
ยอดขายในเชิงปริมาณของฮอนด้าในเดือนมิถุนายนปีนี้ร่วงลงประมาณ 40% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว
จีนยังคงเป็นตลาดสำคัญที่ผู้ผลิตรถชาวญี่ปุ่นพยายามจะกลับมาตามให้ทัน โดยการลดต้นทุนพร้อมกับพัฒนาความสามารถในการตอบสนองต่ออุปสงค์ยานยนต์อีวีและปลั๊กอินไฮบริด (PHEV)
ความยากลำบากของบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นในจีน ส่งผลให้บริษัทญี่ปุ่นในห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ในจีนก็เผชิญกับความลำบากไม่ต่างกัน
นิปปอน สตีล (Nippon Steel) ซัพพลายเออร์เหล็กเจ้าใหญ่ของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นเตรียมถอนตัวจากบริษัทร่วมลงทุน เป่าซาน ไอรอน แอนด์ สตีล (Baoshan Iron & Steel) ในจีน โดยกำลังการผลิตเหล็กในจีนลดลงไป 70% ส่วน เทยิน (Teijin) ก็ตัดสินใจถอนตัวจากธุรกิจวัสดุยานยนต์ในจีนแล้วเช่นกัน
สื่อท้องถิ่นในจีนรายงานว่า อิงตามแผนการผลิตที่ผู้ผลิตรถยนต์และรัฐบาลท้องถิ่นประกาศ คาดว่ากำลังการผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ทั้งหมดในจีน ซึ่งร่วมทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดจะแตะ 36 ล้านคันในปีหน้า ซึ่งหากเป็นไปตามคาดการณ์นี้ หมายความว่าจะต้องมีกำลังการผลิตเพิ่มอีกเกือบ 20 ล้านคัน
นิกเคอิรายงานด้วยว่า รถยนต์ที่ผลิตล้นเกินกำลังถูกขนถ่ายไปยังตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และละตินอเมริกา ซึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ซูบารุ (Subaru) ได้ประกาศเลิกการผลิตในไทยแล้วเช่นกัน