รัฐบาลจีนออกร่างเสนอไซเบอร์สเปซไอดี ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต้องยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชน เบอร์มือถือ และสแกนหน้า เพิ่มความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนว่าจะมีการควบคุมที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งอาจตัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตใครก็ตามได้หากทางการไม่พอใจ
วันที่ 1 สิงหาคม 2024 นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่า กระทรวงความมั่นคงสาธารณะและสำนักงานบริหารไซเบอร์สเปซของจีน (CAC) เผยแพร่ร่างกฎหมายขึ้นในวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อเป็นการ “ปกป้องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล” โดย “ลดการรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลที่มากเกินไปของแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต”
โดยกำหนดให้พลเมืองต้องรับไซเบอร์สเปซไอดีเพื่อรับรองความถูกต้องในการใช้งานอินเทอร์เน็ต ผ่านแอปพลิเคชั่นทดลอง “National Network Identity Authentication (NNIA)”
ซึ่งพลเมืองจะต้องยืนยันตัวตนด้วยการอัพโหลดบัตรประจำตัวประชาชน เบอร์มือถือ และสแกนใบหน้า จึงจะได้ไซเบอร์สเปซไอดีและใบรับรองไซเบอร์สเปซ
โดยก่อนหน้านี้ จีนให้พลเมืองยืนยันตัวตนกับเบอร์โทรศัพท์มือถือในปี 2010 ยืนยันตัวตนสำหรับบริการทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลที่มอบให้คือหมายเลขประจำตัว ชื่อ หมายเลขโทรศัพท์ และคุณลักษณะไบโอเมตริกซ์ใบหน้า
อย่างไรก็ตาม ร่างดังกล่าวไม่ได้รับความสนใจจากสาธารณะชนมากนัก จนกระทั่ง เหลา ตงย่าน (Lao Dongyan) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยชิงหัว (Tsinghua University) ได้โพสต์บนเว่ยป๋อ (Weibo) ซึ่งเทียบเท่ากับแพลตฟอร์ม X ของจีน
เป็นการวิพากษ์วิจารณ์มาตรการที่ออกมา ว่าการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลเป็นเพียงการหลอกลวง จุดประสงค์ที่แท้จริงคือเพื่อควบคุมคำพูดและพฤติกรรมของผู้คนบนโลกออนไลน์ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะสามารถเก็บร่องรอยที่บุคคลทิ้งไว้บนอินเทอร์เน็ตได้ทั้งหมด เท่ากับการนำมาตรการสืบสวนทางคดีอาญามาใช้กับสาธารณชน
ทนายความทั้งสามคนจากต่างเมือง ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และเสิ่นเจิ้น กล่าวกับทางนิกเคอิ เอเชียว่า เห็นด้วยกับการประเมินของเหลา ทั้งยังกล่าวเสริมด้วยว่า รัฐบาลสามารถเข้าถึงกิจกรรมออนไลน์ของใครก็ได้โดยตรง และตัดสิทธิการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้หากทางการไม่พอใจการแสดงออกของพวกเขา
บรรดาทนายความยังกังขาถึงข้ออ้างในการรวบรวมข้อมูล เนื่องจากว่าทางการเคยให้เหตุผลว่า การยืนยันตัวตนด้วยหมายเลขโทรศัพท์มือถือเมื่อปี 2010 เป็นไปเพื่อป้องกันการฉ้อโกงทางโทรคมนาคม ทว่าจำนวนคดีฉ้อโกงดังกล่าวในจีน กลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
หากมาตรการดำเนินต่อไป มีความเป็นไปได้ว่าภาคเอกชนอาจเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบใหม่นี้ จู้หมิง เทคโนโลยี (Juming Technology) บริษัทเอกชนในเมืองเหอเฟยที่ทำธุรกิจจดทะเบียนโดเมนและการตลาดดิจิทัล โพสต์บนบัญชีวีแชต (WeChat) ทางการว่า แอปของตน “เชื่อมต่อกับแอป NNIA ได้สำเร็จ” เพื่อเสนอบริการที่เกี่ยวข้อง
เลสเตอร์ รอสส์ (Lester Ross) จาก (WilmerHale) สำนักงานกฎหมายของสหรัฐในกรุงปักกิ่ง คาดว่าจะไม่กระทบต่อธุรกิจต่างชาตินัก เนื่องจากเป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่ารัฐบาลจีนสอดส่องโพสต์ต่าง ๆ ในโซเชียลมีเดียอย่างใกล้ชิด
ร่างกฎหมายดังกล่าวระบุว่ากำลังรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าว โดยมีกำหนดเส้นตายรับความเห็นในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ นอกจากเหลาที่ถูกลบโพสต์แล้ว บางโพสต์ของผู้นำความคิดเห็นคนสำคัญในประเด็นดังกล่าวก็ไม่สามารถแสดงความคิดเห็น ได้เพียงแค่รีโพสต์เท่านั้น