เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่จุด “กลมกล่อม” เอื้อ “เฟด” มากสุด หั่นดอกเบี้ย ก.ย.

usa
Fourth of July sales are showing in retail store front windows at an outlet mall in Carlsbad, California, U.S., July 3, 2024. REUTERS/Mike Blake
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

การประชุมเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม คือ ระหว่าง 5.25-5.5% ตามความคาดหวังของตลาดและนักลงทุน และพร้อมกันนั้นก็ “ส่งสัญญาณ” ที่นักลงทุนอยากเห็นก็คือ พร้อมจะลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

ถึงแม้จะเป็นการส่งสัญญาณที่มี “ข้อแม้” เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา คือให้ขึ้นกับข้อมูลในแต่ละช่วงเวลาเป็นสำคัญ ไม่ได้มีการรับประกันร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะต้องลดก็ตาม แต่การไม่หักมุม ทุกอย่างเป็นไปตามที่ตลาดคาดหวัง ก็ทำให้บรรยากาศเป็นไปในทางบวก ทั้งตลาดหุ้นสหรัฐที่พุ่งขึ้นและผลตอบแทนพันธบัตรที่ลดลง

“เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟด แถลงว่า ข้อมูลเงินเฟ้อไตรมาส 2 ได้เพิ่มความมั่นใจให้กับคณะกรรมการ โดยทั้งเงินเฟ้อและข้อมูลแรงงานเคลื่อนไหวอย่างสมดุลกันมากขึ้น แต่เฟดจะลดดอกเบี้ยต่อเมื่อมั่นใจมากขึ้นว่าเงินเฟ้อปรับลงอย่างยั่งยืนสู่เป้าหมาย 2% หากข้อมูลด้านอื่น ๆ ออกมาดีด้วย ก็จะช่วยเสริมความมั่นใจของเฟดให้แข็งแกร่งขึ้น

ขณะเดียวกันการที่เงินเฟ้ออ่อนตัวลง ช่วยให้เฟดสามารถให้น้ำหนักระหว่างเงินเฟ้อกับตลาดแรงงานอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น โดยขณะนี้ตัวเลขการจ้างงานแสดงให้เห็นว่าตลาดแรงงานค่อย ๆ ปรับสู่ภาวะปกติ จากที่เคยร้อนแรงมากเกินไป

พาวเวลล์ ได้อธิบายในลักษณะที่ให้ภาพว่า ข้อมูลเศรษฐกิจในปัจจุบันอยู่ในจุด “กลมกล่อม” หรือมีประสิทธิภาพมากที่สุด กล่าวคือ เงินเฟ้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญ การจ้างงานแข็งแกร่ง แต่ในเวลาเดียวกันการปรับขึ้นค่าจ้างลดความร้อนแรงลง ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อที่มีต่อเศรษฐกิจ เพราะภาคธุรกิจไม่ต้องขึ้นราคาสินค้าเพื่อชดเชยค่าจ้างที่สูงขึ้น

“เศรษฐกิจในตอนนี้ไม่ร้อนแรงเกินไป และไม่อ่อนแอมากเกินไป นั่นเป็นสิ่งที่พวกเราอยากเห็น เรากำลังเข้าใกล้จุดที่เหมาะสมที่จะลดดอกเบี้ย”

Advertisment

ในแง่ของจำนวนครั้งการลดดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ประธานเฟดแทบไม่ได้ให้ภาพอะไรที่ชัดเจน กล่าวเพียงว่า อาจไม่มีการลดเลยสักครั้งไปจนถึงหลายครั้ง ขึ้นอยู่กับวิวัฒนาการของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม หากดูจากเครื่องมือติดตามเฟดของ CME Group แสดงให้เห็นว่านักลงทุนเชื่อว่าเฟดจะลดดอกเบี้ย 3 ครั้งก่อนสิ้นปีนี้

เมื่อถูกถามว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ จะถูกนำมาประกอบการตัดสินใจลดดอกเบี้ยในเดือนกันยายนหรือไม่ ประธานเฟดยืนยันว่า เฟดเป็นองค์กรไม่ฝักใฝ่การเมือง เฟดไม่เคยใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนหรือต่อต้านพรรคการเมือง และการทำนายเศรษฐกิจก็ไม่เคยคำนึงว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดี

Advertisment

“วิลเลียม ดัดลีย์” อดีตประธานเฟดสาขานิวยอร์ก ระบุว่า หากดูจากแถลงการณ์ของเฟดที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการแถลงของประธานเฟด บ่งชี้ว่าจะมีการลดดอกเบี้ยเดือนกันยายน ยกเว้นเสียแต่ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยเดือนกันยายน ยกเว้นแต่เงินเฟ้อมีการกลับทิศจากปัจจุบัน

ทางด้าน เนลา ริชาร์ดสัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ADP เห็นว่า ท่าทีดังกล่าวของเฟด เป็นการสร้างทางเลือกให้กับตนเองให้มากที่สุด ไม่อยากต้อนตัวเองเข้ามุม จึงไม่มีการผูกมัดหรือให้คำมั่น สิ่งที่เฟดมีอยู่ในมือให้เล่นในตอนนี้ คือ อัตราการว่างงานจะต่ำอย่างต่อเนื่องได้แค่ไหน เฟดจึงสามารถอดทนรอก่อนตัดสินใจลดดอกเบี้ยได้

คริส รัปคีย์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ FWDBONDS ระบุว่า เฟดเข้าใกล้การลดดอกเบี้ยมากที่สุดในเดือนกันยายน เมื่อดูจากการที่ประธานเฟดบอกว่าพิจารณาถึงความเสี่ยงทั้งสองด้าน ทั้งด้านเงินเฟ้อและการจ้างงาน จากที่ก่อนหน้านี้เฟดมุ่งเน้นแต่เรื่องเงินเฟ้อเป็นหลัก

ตลาดหุ้นตอบรับผลการประชุมเฟดอย่างคึกคัก โดยดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดตลาดที่ 5,522.30 จุด เพิ่มขึ้น 85.86 จุด หรือ1.58%, แนสแดค ปิดตลาดที่ 17,599.40 จุด เพิ่มขึ้น 451.98 จุด หรือ 2.64% ซึ่งทั้งสองดัชนีดังกล่าวปรับขึ้นสูงที่สุดนับจากเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ส่วนดาวโจนส์ ปิดตลาดที่ 40,842.79 จุด เพิ่มขึ้น 99.46 หรือ 0.24% โดยในระหว่างวันพุ่งขึ้นไปถึง 455.30 จุด หรือ 1.1% ส่วนผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี ลดลงเกือบ 0.05% ไปอยู่ที่ 4.092%