Google แพ้คดี ศาลสหรัฐตัดสินผูกขาดตลาดเสิร์ชเอ็นจิ้น

คนเดินผ่านป้ายกูเกิล (ภาพโดย รอยเตอร์ส)
คนเดินผ่านป้ายกูเกิล (ภาพโดย รอยเตอร์)

กูเกิล (Google) ถูกศาลสหรัฐตัดสินว่าผูกขาดตลาดเสิร์ชเอ็นจิ้น และมีความพยายามรักษาการผูกขาดเอาไว้ แต่ยังไม่มีบทลงโทษออกมา ด้านกูเกิลเตรียมยื่นอุทธรณ์

วันที่ 6 สิงหาคม 2024 บีบีซี (BBC) รายงานว่า ผู้พิพากษาศาลแขวงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในระบบศาลรัฐบาลกลางสหรัฐมีคำตัดสินในวันจันทร์ที่ผ่านมา (5 ส.ค.) ว่ากูเกิล (Google) ละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด โดยทำลายการแข่งขันและรักษาการผูกขาดในธุรกิจค้นหาออนไลน์และการโฆษณา

คำตัดสินครั้งนี้ ถือเป็นระเบิดลูกใหญ่ต่ออัลฟาเบต (Alphabet) บริษัทแม่ของกูเกิล ซึ่งอาจเปลี่ยนวิถีการดำเนินธุรกิจของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีนี้ได้เลย

กูเกิลถูกฟ้องร้องโดยกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐในปี 2020 กรณีควบคุมตลาดการค้นหาออนไลน์ประมาณ 90%

นับเป็นหนึ่งในหลายคดีความที่ยื่นฟ้องต่อบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ของหน่วยงานต่อต้านการผูกขาดของสหรัฐ ในความพยายามที่จะเพิ่มการแข่งขันในอุตสาหกรรม

จากคำตัดสินดังกล่าว ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่ากูเกิลและอัลฟาเบตจะต้องเผชิญกับโทษอะไรบ้าง โดยค่าปรับหรือมาตรการเยียวยาอื่น ๆ จะมีการตัดสินกันในชั้นพิจารณาคดีครั้งต่อไป

ADVERTISMENT

รัฐบาลได้เรียกร้องให้มีการ “ผ่อนปรนโครงสร้าง” ซึ่งอย่างน้อยในทางทฤษฎี อาจหมายถึงการแตกบริษัท

ในคำตัดสินนี้ ผู้พิพากษาศาลแขวงสหรัฐ อมิต เมห์ตา (Amit Mehta) กล่าวว่า กูเกิลได้จ่ายเงินหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อให้แน่ใจว่า กูเกิลจะเป็นเครื่องมือค้นหาเริ่มต้นบนสมาร์ทโฟนและบราวเซอร์ต่าง ๆ

ADVERTISMENT

ผู้พิพากษาเมห์ตาเขียนไว้ในคำชี้แจงความยาว 277 หน้าว่า “กูเกิลเป็นผู้ผูกขาด และได้ดำเนินการในลักษณะเดียวกันเพื่อรักษาการผูกขาดเอาไว้”

คำตัดสินในวันจันทร์นี้เกิดขึ้นภายหลังการพิจารณาคดีที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นเวลา 10 สัปดาห์ โดยอัยการกล่าวหาว่า กูเกิลใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปีให้กับแอปเปิล (Apple), ซัมซุง (Samsung), โมซิลล่า (Mozilla) และบริษัทอื่น ๆ เพื่อติดตั้งกูเกิลไว้ล่วงหน้า ให้เป็นโปรแกรมค้นหาเริ่มต้นบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ

ทางสหรัฐกล่าวว่าโดยปกติแล้ว กูเกิลจ่ายเงินมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ (7,800 ล้านปอนด์) ต่อปีสำหรับสิทธิพิเศษดังกล่าว ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้จำนวนมากได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยรักษาส่วนแบ่งการตลาดเอาไว้ได้

อัยการกล่าวว่าการกระทำดังกล่าวหมายความว่าบริษัทอื่น ๆ จะไม่มีโอกาสหรือทรัพยากรเพียงพอในการแข่งขันอย่างมีความหมาย

เคนเนท ดินต์เซอร์ (Kenneth Dintzer) ทนายความของกระทรวงยุติธรรมกล่าวระหว่างการพิจารณาคดีว่า “พยานหลักฐานที่ดีที่สุด ในความสำคัญของการเป็นโปรแกรมค้นหาเริ่มต้น คือสมุดเช็คของกูเกิล” เนื่องจากกูเกิลสามารถทำเงินส่วนใหญ่ได้จากการโฆษณาในหน้าผลการค้นหา

ทั้งนี้ อัลฟาเบตมีแผนที่จะอุทธรณ์คำตัดสินดังกล่าว

จอห์น ชมิดต์ไลน์ (John Schmidtlein) ทนายความของกูเกิลได้ออกมาปกป้องบริษัท โดยระบุว่าผู้ใช้สนใจเครื่องมือค้นหาของกูเกิล เพราะว่ามีประโยชน์ และกูเกิลก็กำลังลงทุนเพื่อปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นต่อผู้บริโภค โดยกล่าวระหว่างการโต้แย้งปิดคดีเมื่อต้นปีนี้ “กูเกิลกำลังชนะเพราะว่ามันดีกว่า” 

นายชมิดต์ไลน์ยังโต้แย้งระหว่างการพิจารณาคดีว่า กูเกิลยังคงเผชิญกับการแข่งขันที่เข้มข้น ไม่ใช่แค่กับบริษัทเครื่องมือค้นหาทั่วไป เช่น บิง (Bing) ของไมโครซอฟต์ (Microsoft) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเว็บไซต์และแอปเฉพาะทางที่ผู้คนใช้ค้นหาร้านอาหาร ตั๋วเครื่องบิน และอื่น ๆ

ในคำตัดสิน ผู้พิพากษาเมห์ตาได้สรุปว่า การเป็นเครื่องมือค้นหาเริ่มต้นถือเป็น “อสังหาริมทรัพย์ที่มีค่าอย่างยิ่ง” สำหรับกูเกิล

ผู้พิพากษาเมห์ตาเขียนไว้ว่า “บริษัทที่แข่งขันได้มีเพียงบริษัทที่สามารถจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับบริษัทคู่ค้าเป็นจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์เท่านั้น”

การฟ้องร้องบริษัทเทคโนโลยีเกี่ยวกับเทคโนโลยีโฆษณาอื่น ๆ มีกำหนดการพิจารณาในเดือนกันยายน อย่างไรก็ตาม กูเกิลเคยถูกปรับเป็นเงินหลายพันล้านดอลลาร์ในคดีผูกขาดในยุโรปมาแล้วเช่นกัน