จีนปักหมุด “สมาร์ทซิตี้” วิจัยพัฒนา “EV” บุกโลก

สมรภูมิการแข่งขันเพื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำโลกด้านรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (electric vehicle : EV) ที่ผู้เล่นประเทศยักษ์ใหญ่หลายรายแข่งขันกันดุเดือด “จีน” เองก็ได้ก้าวเข้ามาเป็นผู้นำแห่งการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของโลกเช่นกัน ทั้งอาจจะต้องยอมรับว่าวินาทีนี้ ก็ไม่มีใครแรงเท่าจีน

รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนปักหมุดว่าปี 2035 ต้องสร้าง “เมืองอัจฉริยะ” แห่งใหม่ให้แล้วเสร็จ ภายใต้ชื่อว่า Xiongan New Area ในพื้นที่ชนบทของมณฑลเหอเป่ย ไม่ไกลจากกรุงปักกิ่งมากนัก โดยเล็งให้มีประชาชนเข้ามาอยู่ 2 ล้านคนภายในปี 2022 พร้อมให้เมืองใหม่แห่งนี้เป็นเมืองที่มีรถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติเป็นการคมนาคมหลัก ควบคู่กับการเป็นฮับวิจัยส่วนที่เกี่ยวข้อง

ร่วมด้วย “ไป่ตู้” ยักษ์อินเทอร์เน็ตจีน ที่ได้จับมือรัฐบาลเหอเป่ย สร้างศูนย์วิจัยด้านรถยนต์ไร้คนขับในสมาร์ทซิตี้แห่งนี้ และได้เริ่มการพัฒนาระบบคมนาคมแบบไร้คนขับ “เต็มรูปแบบ” ภายใต้ระบบสื่อสาร 5G นับตั้งแต่ 2 เดือนก่อน

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่รัฐบาลปักกิ่งที่ผลักดันและเชื่อว่า รถยนต์จีนมีศักยภาพมากพอที่จะสู้ในระดับโลกได้ เพราะบรรดาสตาร์ตอัพรถอีวีจีนก็มีความมั่นใจว่า รถยนต์พลังงานไฟฟ้าของตนจะสามารถตีตลาด “นานาชาติ” ได้

“วิลเลียม หลี่” ซีอีโอค่ายรถNextEV (NIO) เจ้าของรถยนต์ไฟฟ้า EP 9 สปอร์ตคาร์ที่ถูกเคลมว่าเป็นรถอีวีที่วิ่งเร็วที่สุดในโลกตอนนี้ ประกาศกับ “นิกเคอิ อาเซียน รีวิว” ว่าจะตีตลาดต่างชาติโดยเฉพาะยุโรปให้ได้ภายในปี 2020

นอกจาก NIO ยังมีอีก 3 แบรนด์ค่ายรถแนวหน้าของจีน ไม่ว่าจะเป็น Xiaopeng Motors (Xpeng), Weltmeister  Motor (WM) และ Byton ที่ถูกเรียกว่าเป็น “มังกร 4 ตัว” ของอุตสาหกรรมรถยนต์จีน ซึ่งทั้ง 4 บริษัทก่อตั้งขึ้นมาเพียง 4 ปีเท่านั้น โดยได้รับเงินทุนมหาศาลจากบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของชาติ ไม่ว่าจะเป็น อาลีบาบา, เทนเซ็นต์ หรือไป่ตู้ รวมไปถึงการสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่น

ทั้ง 4 ค่ายมีจุดร่วมกันคือ ความตั้งใจแน่วแน่ในการสยายปีกกลุ่มธุรกิจไปยังนอกประเทศ และพยายามหาพันธมิตรค่ายรถยนต์จากต่างชาติมาร่วมทีม อย่าง NIO ก็ออกไปตั้งศูนย์วิจัยพัฒนานอกประเทศ ทั้งในแคลิฟอร์เนีย และมิวนิก ซึ่งซีอีโอหลี่ยังระบุว่า บริษัทยังต้องขยายศูนย์วิจัยในต่างประเทศอีก โดยเฉพาะในตลาดยุโรป เพื่อสร้างความเชื่อถือให้แก่ผู้บริโภคชาวจีนที่จะมาซื้อรถของ NIO

สำหรับ “Byton” ทีมผู้บริหารและผู้ก่อตั้งมาจากต่างชาติทั้งหมด ซีอีโอ “Carsten Breitfeld” ที่เคยเป็นรองประธาน BMW Group ก็มาแสวงหาโอกาสที่จีนระบุว่า “ค่ายเรามีเทคโนโลยีที่ดีจากเยอรมนี และผมมองว่าจีนเป็นประเทศที่น่าตื่นเต้นมาก เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของรถ EV รัฐบาลมีนโยบายเข้มแข็ง อะไร ๆ ก็ไปได้เร็วกว่าที่ยุโรป และมีเงินมหาศาลด้วย”

นักวิเคราะห์มองว่า หนึ่งในข้อได้เปรียบของประเทศจีนที่ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีไปไว นั่นเพราะอำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ และการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายล่าสุด ช่วยทำให้สตาร์ตอัพรถยนต์ไฟฟ้ามีโอกาสโตมากขึ้น โดยเมื่อเมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศเตรียมยกเลิกการจำกัดการเป็นเจ้าของกิจการของต่างชาติในอุตสาหกรรมรถยนต์ ภายในปี 2022 และจะยกเลิกการจำกัดการเป็นเจ้าของกิจการของต่างชาติในอุตสาหกรรมพลังงานรถยนต์ภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้บรรดาสตาร์ตอัพมีโอกาสระดมทุนมากขึ้น ไม่ได้มีเพียงแค่ช่องทางการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (ไอพีโอ) อีกต่อไป

ในขณะที่หลายประเทศของยุโรปเกิดปัญหาการออกกฎหมายหนุนให้มีการใช้รถยนต์ขับขี่อัตโนมัติบนท้องถนน หลังจากเกิดเหตุรถยนต์อัตโนมัติของอูเบอร์ชนคนบนถนนเสียชีวิตไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน จนทำให้มีการสืบสวนถึงระบบความปลอดภัย แต่จากเหตุการณ์นั้นไม่กระทบต่อการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับในจีนแต่อย่างใด เนื่องจากอำนาจของรัฐบาลจีนสามารถสั่งการได้ทั้งหมด โดยเฉพาะการออกนโยบายสร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับรถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนรถยนต์ไร้คนขับ

หนึ่งในผู้บริหารของค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ยอมรับว่า ด้วยขนาดตลาดที่ใหญ่มากของจีน และรัฐบาลที่สนับสนุนรถยนต์อัตโนมัติเต็มกำลัง เป็นสิ่งที่ใคร ๆ โดยเฉพาะผู้ผลิตนอกประเทศไม่สามารถละเลยได้แม้แต่น้อย


ทั้งนี้ จีนเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยยอดขาย “รถใหม่” 28.87 ล้านคันเมื่อปีที่แล้ว