คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
ความเคลื่อนไหวเล็ก ๆ ที่แทบไม่มีใครให้ความสนใจ แต่มีนัยสำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่งเกิดขึ้นในตะวันออกกลางเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นั่นคือ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของอิสราเอลลง จาก A+ มาเป็น A
นอกจากนั้นยังกำหนดภาพรวมของเศรษฐกิจอิสราเอลว่า ยังคงเป็น “ลบ” ซึ่งหมายความว่า เป็นไปได้ที่จะมีการลดอันดับความน่าเชื่อถือลงไปกว่านี้ได้อีกในอนาคต ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบที่การสู้รบ และความตึงเครียดในตะวันออกกลางก่อให้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโดยรวมของอิสราเอลว่า มีมากมายมหาศาลแค่ไหน
ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเงินของอิสราเอลมาตั้งแต่วันที่กองกำลังฮามาสบุกเข้ามาปฏิบัติการรุนแรงในดินแดนอิสราเอลเมื่อ 7 ตุลาคม ปีที่แล้ว ทั้งตลาดหุ้นและค่าเงินอิสราเอลร่วงลงเหวในชั่วพริบตา
ตอนนี้ทั้งค่าเงินและตลาดหุ้นฟื้นตัวกลับมาแล้ว แต่ความกังวลเกี่ยวเนื่องกับสงครามยังมีต่อเนื่องไม่สิ้นสุด ไม่เพียงนำไปสู่การปรับลดความน่าเชื่อถือของประเทศจากทั้ง มูดีส์ และเอสแอนด์พี เมื่อต้นปีนี้เท่านั้น ยังสะเทือนถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างจริงจังด้วย
ภายใต้สถานการณ์สงคราม การบริโภค การค้าและการลงทุนของอิสราเอล ต่างลดฮวบลงหรือไม่ก็ปิดฉากไปโดยปริยายมีเพียงอย่างเดียวที่สวนทางขึ้นมาอย่างไม่มีวันสิ้นสุด นั่นคือ งบประมาณรายจ่ายทางทหาร ที่ ฟิตช์ รายงานเอาไว้ว่า “เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”
ธนาคารกลาง หรือแบงก์ชาติอิสราเอล ประเมินเอาไว้ว่า ค่าใช้จ่ายส่วนที่เกี่ยวข้องกับสงครามของอิสราเอลในช่วงปี 2023-2025 อาจเพิ่มเป็น 55,600 ล้านดอลลาร์ ซึ่งแน่นอนว่า รัฐบาลจำเป็นต้องจัดสรรออกมาให้ได้ ถ้าไม่ตัดงบฯรายจ่ายด้านอื่น ๆ ลงให้เพียงพอ ก็จำเป็นต้องกู้ยืมมาเพื่อการนี้
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิสราเอล ประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ว่า น่าจะขยายตัวอยู่ที่ 2.5% ตลอดทั้งปี ลดลงอย่างมากจากการขยายตัวที่ 4.5% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ก่อนหน้าที่จะเกิดการสู้รบขึ้น เศรษฐกิจอิสราเอลเมื่อปี 2023 ได้รับการคาดหมายว่าจะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 3.5% แต่เอาเข้าจริง อัตราการขยายตัวอยู่ที่เพียง 2% โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่า หากไม่ได้แรงฉุดจากภาคเทคโนโลยี ที่ไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากการสู้รบ เศรษฐกิจอิสราเอลจะยิ่งตกต่ำย่ำแย่ยิ่งกว่านี้
ภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของอิสราเอล ล้วนได้รับผลกระทบจากสงครามอย่างหนักในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว จีดีพีของอิสราเอลติดลบมากถึง 20.7% สืบเนื่องจากการบริโภคภายในประเทศลดลงถึง 27% เช่นเดียวกับการส่งออกและการลงทุนที่แทบไม่หลงเหลือ
การบริโภคของครัวเรือนในอิสราเอลเพิ่งกระเตื้องขึ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี่เอง แต่เพียงแค่ขยับขึ้นเล็กน้อยแล้วก็ชะงักอยู่เช่นนั้น
การจำกัดการเคลื่อนไหวของชาวปาเลสไตน์ก็ดี รวมทั้งภาวะชะงักงันของการว่าจ้างแรงงานต่างชาติ อันสืบเนื่องมาจากการสู้รบก็ดี ส่งผลให้เกิดขาดแคลนแรงงานอย่างหนักในอิสราเอล โดยเฉพาะในภาคการก่อสร้างและเกษตรกรรม
CofaceBDI บริษัทเพื่อการสำรวจเชิงธุรกิจ ประเมินเอาไว้ว่า บริษัทเอกชนอิสราเอลราว ๆ 60,000 บริษัท อาจต้องปิดกิจการในปีนี้ จากสารพัดปัญหา ตั้งแต่ขาดกำลังคน ปัญหาโลจิสติกส์ไปจนถึงภาพเชิงลบโดยรวมในแวดวงธุรกิจเอง
แน่นอนภายใต้สภาวะเช่นนี้ การลงทุนหากไม่ถูกยกเลิก ก็ต้องระงับไว้ชั่วคราว ในขณะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวลดลงแทบเป็นศูนย์
เอลเลียต การ์ไซด์ นักวิเคราะห์เรื่องตะวันออกกลางของออกซฟอร์ด อีโคโนมิคส์ ระบุว่า ภายใต้สภาพที่ย่ำแย่เช่นนั้น รายจ่ายของรัฐบาลกลับเพิ่มขึ้นเป็นติดจรวด โดยเฉพาะรายจ่ายด้านการทหาร ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นถึง 93% ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2023 เมื่อนำไปเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2022
โดยคาดว่ารัฐบาลจะใช้วิธีการกู้ยืมภายในประเทศ มาใช้เพื่อการนี้ นอกเหนือจากเงินช่วยเหลือที่ได้รับจากสหรัฐอเมริกา
สอดคล้องกับที่ฟิตช์ประเมินว่า ในระยะปานกลางหนี้สาธารณะของอิสราเอลจะยังคงอยู่ในระดับสูง ราว 70% ของจีดีพี
ในรายงานประเมินล่าสุดเมื่อกลางเดือนสิงหาคม นักวิเคราะห์ของฟิตช์เชื่อว่า ถึงที่สุดแล้ว รัฐบาลอิสราเอลจะนำมาตรการรัดเข็มขัดมาบังคับใช้ แต่หากความขัดแย้งยังคงอยู่ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2025 ปัญหาท้าทายของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ
โอเมอร์ โมเอฟ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยวอร์วิค เตือนว่า หากเกิดสงครามยาวนานขึ้นในภูมิภาค จากความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน “ต้นทุนทางเศรษฐกิจ” ของสงครามอิสราเอลจะยิ่งสูงมากยิ่งขึ้น
ถ้าไม่ระมัดระวังและไม่รับผิดชอบ รัฐบาลอิสราเอลอาจทำให้ความเสียหายจากทางเศรษฐกิจและสังคม มีมากมายมหาศาลยิ่งกว่าความเสียหายจากสงครามโดยตรงด้วยซ้ำไป