เศรษฐกิจจีนโตช้า ผู้ใหญ่กว่าครึ่งของประเทศ น้ำหนักเกินหรืออ้วน

เทรนเนอร์ให้คำแนะนำแก่ผู้ที่มีน้ำหนักเกินในโรงยิมแห่งหนึ่ง นครเทียนจิน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2015 (เอเอฟพี)

การเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง กำลังเร่งให้อัตราโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเพิ่มในอัตราทวีคูณ มาจากชาวจีนจำนวนน้อยลงที่ถูกคาดว่าจะทำงานใช้แรงกายอย่างเข้มข้นในพื้นที่การเกษตรชนบท ผู้บริโภคเลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพน้อยลงและราคาถูกลง โรคอ้วนที่เพิ่มขึ้นทำให้ค่าใช้จ่ายของรัฐบาลท้องถิ่นที่เป็นหนี้อยู่แล้วยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก

รอยเตอร์ (Reuters) เผยแพร่บทวิเคราะห์ระบุว่า ขณะที่จีนสร้างบ้านและสะพานน้อยลง และหลายโรงงานและฟาร์มเกษตรลงทุนในเครื่องจักรอัตโนมัติ ทำให้เกิดปัญหาทางการเงินใหม่ อัตราโรคอ้วนของจีนอาจโตเร็วขึ้นมาก และจึงไปเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ

ปัญหา 2 ข้อ

ปัญหาน้ำหนักตัวเกิดจากสาเหตุ 2 ปัจจัย ประการแรก ภายใต้ระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่มีนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ช่วยสนับสนุนการทำงาน ทำให้ตำแหน่งงานมากขึ้น ๆ ถูกผูกติดกับโต๊ะ ประการที่สอง ในขณะที่การเติบโตที่ชะลอตัวเป็นเวลานาน กำลังบีบให้คนหันมารับประทานอาหารราคาถูกและไม่ดีต่อสุขภาพ

เนื่องจากที่อยู่อาศัยและโครงสร้างพื้นฐานมีมากมายอยู่แล้ว ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คนงานหลายล้านคนจึงเปลี่ยนอาชีพจากงานก่อสร้างและการผลิตมาทำอาชีพขับรถในบริการรถร่วม หรือขับรถให้บริษัทจัดส่งพัสดุ และในสภาพแวดล้อมที่ภาวะเงินฝืด ผู้บริโภคมักนิยมรับประทานอาหารราคาถูกกว่า ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ผู้ปกครองลดการว่ายน้ำหรือชั้นเรียนกีฬาอื่น ๆ ของบุตรหลานลง

ตามข้อมูลของต้าเสว คอนซัลติ้ง (Daxue Consulting) บริษัทที่ปรึกษาด้านการค้าระหว่างประเทศคาดว่า ตลาดอาหารฟาสต์ฟู้ดของจีนจะมีมูลค่าสูงถึง 1.8 ล้านล้านหยวน หรือราว 8.6 ล้านล้านบาท ในปี 2025 จาก 892,000 ล้านหยวน หรือราว 4.2 ล้านล้านบาทในปี 2017

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นายกัว เหยียนหง เจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะกรรมาธิการด้านสุขภาพแห่งชาติ (National Health Commission หรือ NHC) กล่าวว่า คนที่เป็นโรคอ้วนและน้ำหนักเกินเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ด้านสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งสำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานในเดือนเดียวกันว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของคนวัยผู้ใหญ่ทั้งประเทศจีน มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน เป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกประมาณการไว้ที่ 37%

ADVERTISMENT

งานวิจัยจากวารสารวิทยาศาสตร์ บีเอ็มซี พับลิก เฮลท์ (BMC public Health) คาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 ราคาที่ต้องจ่ายไปกับการรักษาพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับน้ำหนักจะสูงขึ้นเป็น 22% ของงบฯสุขภาพ หรือ 418,000 ล้านหยวนต่อปี หรือราว 2 ล้านล้านบาท เทียบจาก 8% ในปี 2022 ซึ่งจะเพิ่มความตึงเครียดให้กับรัฐบาลท้องถิ่นที่เป็นหนี้ และจะไปลดความสามารถของจีนในการผันทรัพยากรไปยังพื้นที่ที่สามารถสร้างผลิตผลทางเศรษฐกิจให้งอกเงยได้ดี

ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน และอีก 15 หน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นเริ่มใช้แคมเปญรณรงค์การตระหนักรู้ในประชาชนเพื่อสู้กับโรคอ้วน แคมเปญมีกรอบเวลา 3 ปี ภายใต้ 8 สโลแกน ได้แก่ การมุ่งมั่นสู่อายุยืนยาว การเฝ้าดูอย่างแข็งขัน อาหารที่สมดุล กิจกรรมกายภาพ หลับดี เป้าหมายที่สมเหตุสมผลและลงมือปฏิบัติทั้งครอบครัว

ADVERTISMENT

องค์การอนามัยโลกนิยามบุคคลที่มีน้ำหนักเกินเกณ์มาตรฐาน คือบุคคลที่มีดัชนีมวลกาย หรือค่า BMI 25 หรือสูงกว่า ขณะที่ค่า BMI ภาวะอ้วนอยู่ที่ 30 ดังนั้น ตามเกณฑ์แล้วชาวจีนเพียง 8% ที่เผชิญภาวะอ้วน สูงกว่าชาติเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แต่ต่ำกว่าสหรัฐอเมริกาอย่างมากที่มีอัตราคนอ้วน 42% ส่วนหนึ่งเพราะโรคอ้วนและน้ำหนักเกินเกณฑ์ถือเป็นปัญหาใหม่ในจีน ซึ่งประสบภาวะหิวโหยอย่างกว้างขวาง ย้อนไปได้เมื่อทศวรรษ 1960

ปัจจัยเชิงโครงสร้างมีผล

แม้ในขณะที่ผู้บริโภคและคนทำงานปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในทศวรรษหน้า ชาวจีนที่มีน้ำหนักเกินจำนวนมากอาจก้าวข้ามเกณฑ์โรคอ้วนได้

“ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในจีนอาจนำไปสู่การบริโภคอาหารคุณภาพต่ำ เช่น ฟาสต์ฟู้ดได้มากขึ้น เนื่องจากรายได้ลดลง” จุน ซุง คิม นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซองคยุนกวานในเกาหลีใต้กล่าว

จีนผลักดันให้เพิ่มอัตราการขยายตัวของเมือง คือเรื่องที่น่ากังวลเป็นพิเศษเมื่อพิจารณาจากวัฒนธรรมการทำงาน 12 ชั่วโมง 6 วันต่อสัปดาห์ หรือ “996” นั้น ปุย เกีย ซู แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปของโรงพยาบาลราฟเฟิลส์ เป่ยจิง กล่าวว่า ผู้ป่วยบางรายรายงานว่าการรับประทานอาหารเพื่อคลายความเครียดจากการทำงาน

เมื่อพิจารณาสัดส่วนภาวะอ้วนในเด็ก พบว่าในปี 2022 สัดส่วนภาวะอ้วนในเด็กชายในจีนเพิ่มสูงขึ้นสู่ 15.2% จาก 1.3% ในปี 1990 ตามหลังสหรัฐที่มี 22% แต่สูงกว่าญี่ปุ่นที่มี 6% อังกฤษและแคนาดาที่ 12% และอินเดียที่มี 4% ส่วนโรคอ้วนในเด็กผู้หญิงของจีน เพิ่มขึ้นเป็น 7.7% จาก 0.6% ในปี 1990

นายหลี่ ตัว หัวหน้าศาสตราจารย์ด้านโภชนาการ มหาวิทยาลัยชิงต่าว กล่าวว่า นักเรียนจำนวนมากซื้ออาหารทานเล่นแถว ๆ โรงเรียน หรือระหว่างทางกลับบ้าน ที่มักมีเกลือ น้ำตาล และน้ำมันสูง จึงแนะว่ารัฐบาลควรสื่อสารกับบริษัทผลิตอาหาร ชุมชน พ่อค้าแม่ค้าขายปลีก และโรงเรียนมากขึ้นอีก เกี่ยวกับความเสี่ยงโรคอ้วนที่เกิดจากอาหารขยะหรือเครื่องดื่มรสหวาน จีนควรสั่งห้ามการขายอาหารและเครื่องดื่มที่รสชาติหวานเกินไปในโรงเรียน และไม่ควรมีร้านขายอาหารฟาสต์ฟู้ดภายในรัศมีตามที่กำหนดรอบโรงเรียนด้วย