อัยการสูงสุดสหรัฐยื่นฟ้องคดีอาญาพนักงานอาร์ที เครือข่ายสื่อทางการรัสเซีย ข้อหาฟอกเงิน อ้างปมจ่ายเงินบริษัทอเมริกันผลิตเนื้อหาสร้างความแตกแยก ด้านอาร์ทีปฏิเสธข้อกล่าวหา นับเป็นความเคลื่อนไหวก่อนช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปลายปี 2024
วันที่ 5 กันยายน 2024 รอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า สหรัฐยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาฟอกเงินต่อพนักงานระดับผู้จัดการของอาร์ที (RT) หรือชื่อเก่า Russia Today เครือข่ายโทรทัศน์ทางการรัสเซีย จากหลักฐานพบการจ่ายเงินจ้างบริษัทอเมริกันแห่งหนึ่งในรัฐเทนเนสซี เพื่อผลิตเนื้อหาออนไลน์ที่มุ่งจะมีอิทธิพลในการแทรกแซงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2024
กระทรวงยุติธรรมสหรัฐกล่าวว่า ลูกจ้างทั้งสองคนใช้บริษัทเปล่า (Shell Company) และบุคคลปลอม เพื่อจ่ายเงิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 340 ล้านบาทให้บริษัทในรัฐเทนเนสซี ที่ทางการเลือกไม่เปิดเผยชื่อ เพื่อผลิตวิดีโอออนไลน์ที่มุ่งทำให้การแบ่งขั้วทางการเมืองในสหรัฐขยายใหญ่ขึ้น
โดยนายเมอร์ริก การ์แลนด์ อัยการสูงสุดสหรัฐกล่าวว่า เราจะก้าวร้าวอย่างไม่ลดละในการตอบโต้และขัดขวางความพยายามของรัสเซียและอิหร่าน ตลอดจนจีน หรือผู้มีบทบาทชาวต่างชาติใดก็ตาม ในการทำลายการเลือกตั้งและประชาธิปไตยของสหรัฐ
ด้านบีบีซี (BCC) รายงานว่า มาร์การิตา ซิโมยัน บรรณาธิการบริหารอาร์ที เป็น 1 ใน 10 คนที่ถูกคว่ำบาตร ฐานพยายามทำลาย “ความไว้วางใจของสาธารณชนต่อสถาบันของเรา (หมายถึงสหรัฐ)” ซึ่งอาร์ทีปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนร่วมตามที่กล่าวหา
ขณะที่อีกด้าน หน่วยงานสืบสวนสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) ยื่นขออนุญาตศาลเพื่อเข้ายึดชื่อโดเมน 32 โดเมนที่ระบุตัวตนของเว็บไซต์ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามจากรัสเซียในการเข้ามามีอิทธิพล
ด้านอาร์ทีตอบโต้อย่างติดตลกผ่านรอยเตอร์ว่า สามสิ่งที่แน่นอนในชีวิต ได้แก่ ความตาย ภาษี และการแทรกแซงของอาร์ทีในการเลือกตั้งสหรัฐ ซึ่งอาร์ทีได้หยุดดำเนินงานในสหรัฐหลังจากรัสเซียรุกรานยูเครน
ด้านมาเรีย บูตินา สส.รัสเซีย เรียกข้อกล่าวหาดังกล่าวว่าขยะทั้งเพ รัสเซียไม่คิดว่าสำคัญ ไม่ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน หรือ กมลา แฮร์ริส จากเดโมแครต จะชนะการเลือกตั้งในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้
การฟ้องร้องคดีทางอาญานี้ ได้ตั้งข้อหาพนักงานอาร์ที 2 คน ได้แก่ คอนสแตนติน คาลาชนิคอฟ และเอเลนา อฟานาสเยวา ในข้อหาสมคบคิดที่จะละเมิดกฎหมายฟอกเงินและกฎหมายสายลับชาวต่างชาติ ทั้งสองอยู่ในรัสเซียและยังคงอยู่ระหว่างหลบหนี
จนถึงขณะนี้รัฐบาลไบเดนดำเนินการปราบปรามใน 6 ข้อ ดังนี้
• ตั้งข้อหาผู้จัดการอาร์ที สองคนในกรุงมอสโก ได้แก่ คอนสแตนติน คาลาชนิคอฟ วัย 31 ปี และเอเลนา อฟานาสเยวา วัย 27 ปี จากการจ่ายเงินให้ผู้สร้างเนื้อหาในดินแดนของสหรัฐ เพื่อ “เผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อและการบิดเบือนข้อมูลสนับสนุนรัสเซีย” แก่ผู้ชมในสหรัฐ
• อนุมัติแซงก์ชั่นหรือคว่ำบาตรหน่วยงาน 2 แห่ง และบุคคล 10 คน รวมถึง ซิโมยัน หัวหน้าบรรณาธิการอาร์ที สำหรับ “กิจกรรมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความไว้วางใจของสาธารณชนต่อสถาบันของเรา”
• จำกัดวีซ่าสำหรับพนักงานของสื่อที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลรัสเซีย
• ยึดชื่อโดเมนอินเทอร์เน็ต 32 ชื่อที่ใช้ในการโปรโมตเรื่องเล่าเท็จที่สร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ โดยกำหนดเป้าหมายกลุ่มประชากรและภูมิภาคของสหรัฐบนโซเชียลมีเดีย
• กำหนดให้ รอสซียา เซกอดนียา (Rossiya Segodnya) เครือข่ายสถานีข่าวต่างประเทศที่ควบคุมโดยทางการรัสเซีย และบริษัทในเครืออีก 5 แห่ง ได้แก่ อาร์ไอเอ โนวอสตี, อาร์ที, ทีวี-โนวอสตี, รัปต์ลีและสปุตนิก เป็น “ภารกิจต่างประเทศ หรือ Foreign Missions” โดยกำหนดให้ต้องรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคลากรของบริษัทดังกล่าวต่อรัฐบาลสหรัฐด้วย
• เสนอรางวัล 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 340 ล้านบาท สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับแฮกเกอร์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มรัสเซียอย่าง Russian Angry Hackers Did It (RaHDit) หรือแปลชื่อกลุ่มเป็นภาษาไทยว่า แฮกเกอร์ที่โกรธเกรี้ยวของรัสเซียทำเอง
กระทรวงยุติธรรมสหรัฐระบุว่า สำหรับบริษัทในเทนเนสซีผลิตวิดีโอเกือบ 2,000 คลิป ในหัวข้ออย่าง การอพยพ ภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งมียอดวิว 16 ล้านครั้งบนยูทิวบ์ นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ยกตัวอย่าง อฟานาสเยวา บอกให้บริษัทอเมริกันแห่งนี้ผลิตวิดีโอที่กล่าวโทษยูเครนและสหรัฐในเหตุก่อการร้ายในโครคุส ซิตีฮอลคอนเสิร์ต กรุงมอสโก ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 150 ราย เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2024
ก่อนหน้านี้ กระทรวงยุติธรรมเตือนว่ารัสเซียยังคงเป็นภัยคุกคามในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ และดูเหมือนจะเลือกฝั่งโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกัน เป็นประธานาธิบดี เมื่อเทียบกับกมลา แฮร์ริส ตัวแทนพรรคเดโมแครต
ด้านทรัมป์กล่าวหากระทรวงยุติธรรมซ้ำเดิม ผ่านทางแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียว่ากำลังทำงานกันเพื่อให้ตนแพ้เลือกตั้ง
กระทรวงยุติธรรมสหรัฐยังระบุอีกว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียและตัวแทนของปูตินรับเทคนิกต่าง ๆ ที่ทันสมัยมาใช้พุ่งเป้ากลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งเฉพาะกลุ่ม และรวมถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งในรัฐสมรภูมิที่สองพรรคคะแนนสูสีโดยเฉพาะ และขณะนี้ใช้บอต ฟาร์มส (Bot Farms) ที่เน้นปั่นยอดไลก์และยอดฟอลโลว์ รวมถึงใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอด้วย