
โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกันศึกชิงตำแหน่ง ปธน.สหรัฐ ให้คำมั่นหากชนะจะตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบการใช้งบฯของรัฐบาล ตั้ง อีลอน มัสก์ นั่งประธาน ย้ำนโยบายเศรษฐกิจยังมุ่งใช้เครื่องมือภาษีศุลกากร ลดกฎระเบียบ
วันที่ 6 กันยายน 2024 รอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกันลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ กล่าวถ้อยแถลงนโยบายทางเศรษฐกิจพอสังเขป ที่สโมสรเศรษฐกิจในนครนิวยอร์ก ว่า หากได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐจะตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้งบประมาณของรัฐบาลกลาง โดยมี นายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีพันล้าน ผู้ออกไอเดียนั่งเป็นประธาน
คณะกรรมาธิการชุดนี้มีหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลกลางทั้งหมด ก่อนให้คำแนะนำสำหรับ “การปฏิรูปอย่างเข้มงวดจริงจัง” เพื่อขจัดการใช้จ่ายที่ไม่ถูกต้องและฉ้อโกง ภายในเวลา 6 เดือนนับตั้งแต่การตั้งคณะกรรมาธิการ ด้านมัสก์ เจ้าของบริษัทเทสลาและสเปซเอ็กซ์ส่งข้อความผ่านเว็บไซต์ X (อดีตทวิตเตอร์) ว่า ตั้งตารอรับใช้ชาวอเมริกันหากได้รับโอกาสนี้
ปัจจุบันสหรัฐมีสำนักงานตรวจสอบอิสระของรัฐสภา (U.S. Government Accountability Office) องค์กรไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ทำหน้าที่ตรวจสอบและประเมินว่ากองทุนรัฐบาลกลางกำลังถูกใช้ไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ และสอบสวนการกล่าวหาเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณในทางมิชอบ
ที่สโมสรอีโคโนมิกส์ คลับ ออฟ นิวยอร์ก (Economic Club of New York) นครนิวยอร์ก ทรัมป์กล่าวถ้อยแถลงยาวกว่า 1 ชั่วโมง มีจุดประสงค์เพื่อวางเค้าโครงนโยบายเศรษฐกิจ มีแขกผู้บริหารบริษัทชั้นนำในแวดวงธุรกิจเข้าร่วม อาทิ นายเจมี ไดมอน ซีอีโอเจพี มอร์แกน และนายสตีเฟน ชวาร์ซแมน ซีอีโอแบล็กสโตน
ทรัมป์ระบุว่า เขาจะเสริมและขยายนโยบายที่หาเสียงไว้ระหว่างปี 2016 และปี 2020 ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และให้คำมั่นที่จะลดกฎระเบียบ 10 ข้อต่อกฎใหม่ 1 ข้อ จากเมื่อปี 2016 ที่ทรัมป์ให้คำมั่นยกเลิกกฎระเบียบเก่า 2 ข้อ ต่อกฎใหม่ 1 ข้อ
ทั้งยังให้คำมั่นที่จะลดภาษีบริษัทเหลือ 15% จาก 21% สำหรับบริษัทที่ผลิตสินค้าในสหรัฐ และสำหรับในเทอมแรก ทรัมป์ให้คำมั่นลดอัตราภาษีบริษัทจาก 35% เหลือ 21%
ด้านกมลา แฮร์ริส ตัวแทนเดโมแครตเสนอเพิ่มอัตราภาษีจาก 21% สู่ 28% สะท้อนการใช้เครื่องมือทางภาษีศุลกากรยังคงเป็นธีมหลักสำหรับแผนทางเศรษฐกิจของทรัมป์ ทั้งเคลื่อนย้ายภาคการผลิตกลับมายังสหรัฐมากขึ้น และในฐานะแหล่งรายได้เพื่อช่วยลดการขาดดุล แม้ว่า ทรัมป์มีแผนจะลดภาษีอย่างมีนัยสำคัญ
ในจุดหนึ่งของถ้อยแถลง ทรัมป์แม้กระทั่งกล่าวถึงความคิดที่สหรัฐจะสร้างกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติขึ้น “เราจะใส่เม็ดเงินมหาศาล เงินที่จะมาจากภาษีศุลกากร และสิ่งอันชาญฉลาดอื่น ๆ และเราจะมีกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดากองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติทั้งมวล” ทรัมป์กล่าว
ภาษีศุลกากรจะเป็นอีกหนทางในการต่อสู้กับจีนในเชิงเศรษฐกิจด้วย โดยเฉพาะผ่านทางการเก็บภาษีเพิ่มสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี สูงสุดหรือมากกว่า 100%
เมื่อถูกถามเกี่ยวกับว่า ทรัมป์จะประสานด้านนโยบายการค้าและความมั่นคงแห่งชาติเข้าด้วยกันให้ดีขึ้นได้อย่างไร เนื่องจากนโยบายดังกล่าวเกี่ยวข้องกับจีน กล่าวคือสหรัฐเองเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ (ความมั่นคง) หมายเลข 1 แต่ก็ยังเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของจีนด้วย ทรัมป์กล่าวตอบว่า สหรัฐไม่ได้รับประโยชน์อย่างเพียงพอจากความสัมพันธ์กับจีน นอกจากพวกสินค้าราคาถูก ก่อนหันไปให้ความสำคัญกับประเด็นเกาหลีเหนือและสงครามนิวเคลียร์ในฐานะที่เป็นภัยคุกคามความมั่นคงที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกา
ตามข้อมูลของมูลนิธิภาษี (Tax Foundation) สถาบันคลังสมองอิสระในกรุงวอชิงตัน ระบุว่า ภาษีศุลกากรที่บังคับใช้ในช่วงเทอมแรกของทรัมป์ และยังคงใช้อยู่ขยายมากขึ้นในสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดน นั้น ไปเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายให้ชาวอเมริกันโดยเฉลี่ย 625 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 20,900 บาทต่อครัวเรือน ขณะที่ก็สร้างผลกระทบด้านลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ
ทรัมป์เสนอใช้ภาษีศุลกากรใหม่ ซึ่งรวมถึงภาษี 10% ในสินค้านำเข้าทั้งหมดจากทุกประเทศ และ 60% ในสินค้าจากจีนนั้น อาจทำให้จีดีพีสหรัฐลดลง 0.8% และลงเอยสร้างต้นทุนที่ต้องจ่ายต่อปีที่ 524,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 17.5 ล้านล้านบาท