“เฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์” ปรับคุมเข้มโฆษณาการเมืองในสหรัฐ

REUTERS/Thomas White/File Photo

สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ประกาศมาตรการในการจำกัดโฆษณาทางการเมือง ก่อนหน้าการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐอเมริกาจะมีขึ้นในปีนี้ เพื่อแก้ปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดพลาดบนโลกสังคมออนไลน์ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้งสหรัฐเมื่อปี 2559

โดยเฟซบุ๊ก เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานเดือนละราว 2,200 ล้านคน ได้เปิดตัวสารบรรณสำหรับโฆษณาทางการเมืองขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าใครเป็นผู้จ่ายเงินของโฆษณาดังกล่าวและรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับโฆษณาทางการเมืองนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณในการหาเสียง จำนวนผู้คนที่เห็นโฆษณานี้ อายุ เพศ และสถานที่ของผู้เห็น โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บไว้เป็นระยะเวลา 7 ปี ซึ่งเบื้องต้นจะนำไปใช้กับเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม ซึ่งเป็นของเฟซบุ๊ก เฉพาะในสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะขยายนำไปใช้กับประเทศอื่นๆทั่วโลกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าต่อไป

ด้าน ทวิตเตอร์ ผู้ให้บริการไมโครบล็อกรายใหญ่ของโลก แถลงวันเดียวกันว่า จะมีกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการโฆษณาเรื่องการเลือกตั้งที่เข้มงวดมากขึ้น โดยผู้ที่จะลงโฆษณาเกี่ยวกับการเลือกตั้งของรัฐบาลกลางทั้งหมดจะต้องได้รับการรับรองว่าเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา ส่วนผู้ลงสมัครและคณะกรรมาธิการจะต้องให้เลขประจำตัวการหาเสียงเลือกตั้ง

ทั้งนี้ การประกาศเข้มงวดเกี่ยวกับโฆษณาทางการเมืองของ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอที มีขึ้นหลังจากมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า กฎระเบียบของสื่อสังคมออนไลน์มีการเปิดทางให้เผยแพร่ข้อมูลที่ผิดพลาดออกไปในช่วงการเลือกตั้งสหรัฐเมื่อปี 2559

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์