
จีนเจอปัญหานมล้นตลาด จากการขยายการผลิตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผานมา ซ้ำเติมด้วยการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้บริโภคต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด ร่วมกับอัตราการเกิดที่น้อยสุดในประวัติการณ์ ยิ่งทำอุปสงค์ผลิตภัณฑ์นมลดลง
วันที่ 20 กันยายน 2024 รอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า จีนกำลังจมอยู่กับปัญหาน้ำนมที่ล้นตลาด เนื่องจากจีนมีอุปทานนมล้นเกินอยู่แล้วเป็นทุนเดิม จากการขยายตัวของฟาร์มโคนมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อันเป็นผลกระทบที่ไม่ตั้งใจจากการขับเคลื่อนความมั่นคงด้านอาหารของรัฐบาลจีนที่เริ่มขึ้นเมื่อปี 2018 แล้วจีนยังมาเจอกับภาวะอัตราการเกิดที่ต่ำลงและผู้บริโภคที่ประหยัดมากขึ้น อีกทั้งการส่งออกที่มีข้อจำกัด ส่งผลให้ผลผลิตนมล้นเกินยิ่งขึ้นอีก
จากปัญหาดังกล่าวทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรายย่อยจำนวนมากต้องเลิกกิจการ หรือลดขนาดการทำเลี้ยงโคลง
เศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้ความต้องการอาหารราคาสูง เช่น ชีส ครีม และเนย ในจีนลดลง รวมถึงประชากรสูงอายุ ส่งผลให้การบริโภคนมของชาวจีนลดลง จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics of China) จีนมีการบริโภคนมเฉลี่ยอยู่ที่คนละ 12.4 กิโลกรัมในปี 2022 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีการเผยข้อมูลจากสำนักงานสถิติฯ ลดลงจากคนละ 14.4 กิโลกรัมในปี 2021
ส่วนในภาคการผลิต จีน ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตนมรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก มีผลผลิตน้ำนมพุ่งขึ้นเป็นเกือบ 42 ล้านตันในปี 2023 โดยเพิ่มขึ้นจาก 30.39 ล้านตันในปี 2017 และเกินเป้าหมายที่รัฐบาลจีนตั้งเอาไว้ที่ 41 ล้านตันในปี 2025 ไปแล้ว
จะเห็นได้ว่าจีนมีการบริโภคลดลง แต่การผลิตกลับเพิ่มขึ้น ทำให้ราคานมลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2022 โดยราคานมลดลลงเหลือต่ำกว่าต้นทุนการผลิตโดยเฉลี่ยที่ 3.8 หยวน (ราว 17.81 บาท) ต่อกิโลกรัม ส่งผลให้ฟาร์มที่ขาดทุนหลายแห่งต้องปิดตัวลง หรือลดจำนวนโคในฟาร์มลง
โมเดิร์นแดรี่ (Modern Dairy) ฟาร์มโคนมรายใหญ่เจ้าหนึ่งในจีนรายงานว่าได้ลดจำนวนการเลี้ยงโคนมลงครึ่งหนึ่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 และมียอดขาดทุนสุทธิ 207 ล้านหยวน (ราว 961.32 ล้านบาท) ในช่วงเวลาดังกล่าว
ด้านการส่งออก ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 จีนส่งออกผลิตภัณฑ์นม 55,100 ตัน เพิ่มขึ้น 8.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) แต่ยังถือว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผลผลิตส่วนที่ล้นเกิน
ส่วนการนำเข้า หน่วยงานศุลกากรจีน (China Customs) รายงานว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2024 จีนนำเข้าผลิตภัณฑ์นมลดลง 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) เหลือ 1.75 ล้านเมตริกตัน โดยนมผงซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามากที่สุดลดลง 21% เหลือ 620,000 ตัน
นอกจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงแล้ว อัตรากากรเกิดที่น้อยลงยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์นมผง ด้วยอัตราการเกิดของจีนในปี 2023 ซึ่งอยู่ที่ 6.39 ต่อประชากร 1,000 คน ถือเป็นระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ โดยลดลงจากอัตรา 12.43 ในปี 2017
เอทูมิลค์ (A2 Milk) บริษัทนมจากนิวซีแลนด์ ซึ่งจำหน่ายนมผงสำหรับทารกในจีน เปิดเผยเมื่อเดือนสิงหาคมว่า ตลาดนมผงสำหรับทารกในจีนลดลง 8.6% ด้านปริมาณ และด้านมูลค่าลดลง 10.7% ในปีงบการเงิน 2024 ที่สิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 2024 และอาจลดลงอีกในปีงบฯ 2025
จีนมีการบริโภคนมสดคิดเป็น 80% ของการบริโภคผลิตภัณฑ์นม ภาคอุตสาหกรรมนมยังคงต้องพยายามที่จะให้ความรู้แก่ผู้บริโภคให้หันไป “กินนม” ในรูปแบบอื่น เพื่อที่จะพัฒนาตลาดสำหรับชีส ครีม และเนย ซึ่งจะเปลี่ยนนมให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงและมีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนานขึ้น ตามคำเรียกร้องของรัฐบาลจีนในปี 2018 แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย เนื่องจากการรัดเข็มขัดของผู้บริโภค
สมาคมผลิตภัณฑ์นมของจีน (China Dairy Association) กล่าวว่า เพื่อจัดการกับผลผลิตส่วนเกิน ผู้ผลิตในจีนจึงเปลี่ยนนมดิบเป็นผง จนทำให้เกิดผลนมผงผลิตส่วนเกินมากกว่า 300,000 ตันในสิ้นเดือนมิถุนายน ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นเกือบสองเท่าจากปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ จีนยังพยายามส่งออกนมผงเต็มไขมัน (whole milk powder) อีกด้วย แต่ความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์นมผงปนเปื้อนเมลามีนที่เป็นเรื่องอื้อฉาวเมื่อปี 2008 ได้ลดทอนศักยภาพที่จีนควรจะทำได้
นักวิเคราะห์จากสโตนเอ๊กซ์ (StoneX) กล่าวว่า แม้กระทั่งผู้บริโภคชาวจีนเองก็ยังชอบแบรนด์ต่างประเทศมากกว่า ทั้งที่รัฐบาลจีนได้ปรับปรุงกฎระเบียบด้านอาหารและเพิ่มความเชื่อมั่นแล้วก็ตาม