
จากกรณีที่สหภาพยุโรป หรือ อียู (European Union : EU) เริ่มเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในจีนเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพิ่มเติมจากภาษีรถยนต์มาตรฐานสำหรับการนำเข้ารถยนต์ที่เก็บอยู่แล้ว 10% เพื่อตอบโต้ต่อการอุดหนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลจีน ซึ่งสหภาพยุโรปมองว่าไม่เป็นธรรมต่อคู่แข่งที่ผลิตในยุโรปและที่อื่น ๆ
ต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคม อียูปรับลดอัตราภาษีลงจากที่ประกาศไว้ครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายนเล็กน้อย ส่งผลให้ บีวายดี (BYD) ถูกเรียกภาษีอัตรา 17.3% จีลี่ (Geely) อัตรา 19.3% เอสเอไอซี (SAIC) อัตรา 36.3% ส่วนเทสลา (Tesla) บริษัทรถยนต์สัญชาติอเมริกันที่ได้ยื่นคำขอให้อียูตรวจสอบโดยเฉพาะเจาะจงได้รับการเคาะอัตราภาษี 9% สำหรับบริษัทอื่น ๆ ที่สหภาพยุโรปเห็นว่าไม่ให้ความร่วมมือในการสอบสวนต้องจ่าย 37.6%
มีการวิเคราะห์ว่า แม้ว่าจะต้องจ่ายภาษีในอัตราดังกล่าว รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนก็ยังคงสามารถแข่งขันในตลาดยุโรปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออัตราภาษีถูกปรับลดลงครั้งล่าสุด หรือพูดอีกอย่างก็คือ อัตราภาษีของสหภาพยุโรประดับที่เรียกเก็บอยู่ตอนนี้ไม่เพียงพอที่จะหยุดการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนในตลาดยุโรปได้
เมื่อปลายเดือนเมษายน 2024 ก่อนที่สหภาพยุโรปจะเคาะอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนรอบแรก บริษัทวิจัย โรเดียม กรุ๊ป (Rhodium Group) เผยแพร่รายงานที่ชี้ว่า หากสหภาพยุโรปต้องการให้ตลาดยุโรปกลายเป็นตลาดที่ไม่น่าดึงดูดใจสำหรับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จีน สหภาพยุโรปก็จำเป็นต้องเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 40-50% และอาจจะต้องเก็บในอัตรา 45-55% สำหรับบริษัทรถยนต์จีนที่มีการบูรณาการการผลิตในแนวดิ่ง หรือผลิตเองตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อย่างเช่น บีวายดี (BYD)
ล่าสุด ซีเอ็นบีซี (CNBC) รายงานเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2024 ว่า แม้ว่าจะโดนเก็บภาษีนำเข้าสูงขึ้น แต่รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนยังคงขายรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดยุโรปในราคาต่ำกว่าคู่แข่งได้
ยกตัวอย่างรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น ดอลฟิน (Dolphin) ของบีวายดี ที่แม้จะถูกเรียกเก็บภาษี 17.3% แต่ก็ยังขายได้ในราคา 21,550 ดอลลาร์ (ประมาณ 709,580 บาท) ต่ำกว่าโมเดล 3 (Model 3) ที่นำเข้าจากจีน ซึ่งเป็นรุ่นที่ราคาถูกสุดของเทสลาอยู่ประมาณ 23,270 ดอลลาร์ (ประมาณ 766,200 บาท)
โจเซฟ แม็กเคบ (Joseph McCabe) ประธานและซีอีโอของบริษัทวิจัยอุตสาหกรรมยานยนต์ ออโต้ฟอร์แคสต์ โซลูชั่นส์ (AutoForecast Solutions) กล่าวว่า ภาษีนำเข้าของสหภาพยุโรปในปัจจุบันจะเป็นอุปสรรคเล็กน้อยสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน แต่ไม่ถึงขั้นเป็นอุปสรรคกีดขวางการเข้าสู่ตลาด
เขาชี้ว่าภาษีนำเข้าที่สหภาพยุโรปเรียกเก็บนั้นไม่รุนแรงเท่าภาษีนำเข้าที่อเมริกาเหนือประกาศเก็บอัตรา 100% ทั้งสหรัฐและแคนาดา เนื่องจากบริษัทรถยนต์ยุโรปกับผู้รับจ้างผลิต (OEM) ในจีนมีความเชื่อมโยงกันอย่างมาก ทั้งนี้ หากภาคการรับจ้างผลิตของจีนได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีดังกล่าว ก็มีความเสี่ยงสูงที่จีนจะใช้มาตรการภาษีตอบโต้ยุโรป
“มันเป็นการรักษาสมดุลที่ละเอียดอ่อน ในการส่งเสริมการผลิตภายในยุโรป โดยไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการดำเนินงาน [ของบริษัทรถยนต์ยุโรป] ในประเทศจีน”
แม็กเคบอธิบายอีกว่า ปัจจุบันบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าจีนไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “ความสามารถในการทำกำไร” มากเท่า “ส่วนแบ่งตลาด” เนื่องจากเหล่านักลงทุนมักจะให้รางวัลแก่บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าที่ประกาศคำมั่นสัญญาในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ มากกว่าที่จะมองแค่ผลการดำเนินงานระยะสั้น
วิลเลียม หม่า (William Ma) ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน (CIO) ของ โกรว อินเวสเมนต์ กรุ๊ป (GROW Investment Group) กลุ่มธุรกิจการลงทุนและบริหารจัดการการลงทุนจากจีน กล่าวในการให้สัมภาษณ์รายการ “Street Signs Asia” ของซีเอ็นบีซีว่า หากสหภาพยุโรปต้องการฆ่าอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าจีนให้ตายจริง ๆ ก็จำเป็นต้องเก็บภาษีนำเข้าอัตรา 300% ซึ่งตัวเขาเองมองว่าเป็นอัตราที่ไม่สมเหตุสมผล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อียู ปรับลดภาษี รถเทสลาที่ผลิตในจีน เหลือ 9% ส่วนค่ายจีนได้ลดเล็กน้อย
อียูไม่อ่อนให้ เดินหน้าเก็บภาษี “อีวีจีน” สูงสุด 37.6% พิจารณาอัตราเก็บต่อเนื่อง 5 ปี
ค่ายรถเยอรมันก็ค้าน “ภาษีอีวีจีน” เสียงเรียกร้องหลายทางทำ “อียู” ยอมเจรจาใหม่
“อียู” ประกาศขึ้นภาษี “อีวีจีน” แต่ละแบรนด์โดนไม่เท่ากัน สูงสุด 38.1%
รายงานชี้ ถ้าอียูจะกัน “อีวีจีน” ต้องเก็บภาษี 40-55% แต่รถต่างชาติผลิตในจีนจะตายก่อน