ผู้สูงวัยในประเทศญี่ปุ่นที่ไม่มีญาติสนิทเลยกำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ คาดว่าในปี 2050 ผู้สูงวัยสัดส่วนกว่า 11% ของผู้สูงวัยทั้งหมดจะเป็น “คนไร้ญาติ”
สำนักข่าวเกียวโด (Kyodo) ของญี่ปุ่นรายงานเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2024 ว่า เจแปน รีเสิร์ช อินสทิทิวต์ (Japan Research Institute : JRI) บริษัทวิจัยในประเทศญี่ปุ่น คาดว่าในปี 2050 จำนวนผู้สูงอายุวัย (อายุ 65 ปีขึ้นไป) ในประเทศญี่ปุ่นที่ไม่มีญาติสนิทเลยจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1.5 เท่าของจำนวนในปัจจุบัน จนมีสัดส่วนคิดเป็น 11.5% ของประชากรผู้สูงวัยทั้งหมด
บริษัทวิจัย JRI ประมาณการโดยอิงข้อมูลจากสถาบันวิจัยประชากรและความมั่นคงทางสังคมแห่งชาติของญี่ปุ่นว่า ในปี 2050 ผู้สูงวัยที่ไม่มีญาติสายตรงเลยถึง 3 รุ่น (ลูก หลาน เหลน) จะมีจำนวน 4.48 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 2.86 ล้านคน ในปี 2024 หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 56.64%
ตัวเลขผู้สูงวัยไร้ญาติที่คาดการณ์ไว้ในปี 2050 จะคิดเป็นประมาณ 11.5% ของประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวน 39 ล้านคน
แนวโน้มนี้ได้จุดกระแสความกังวลใจ ว่าใครจะทำหน้าที่เป็นผู้ค้ำประกันที่โรงพยาบาลและบ้านพักคนชรา รวมถึงใครจะเป็นผู้รับศพของคนกลุ่มนี้ ซึ่งการมี “ผู้ค้ำประกัน” นั้นเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากบ้านพักคนชราและสถานพยาบาลหลายแห่งต้องการผู้ค้ำประกันสำหรับบริการต่าง ๆ
ตามตัวเลขประมาณการผู้สูงอายุที่ไม่มีญาติสนิทเลย และได้รับการรับรองว่าต้องอยู่ภายใต้การดูแลระยะยาว หรือได้รับการสนับสนุนภายใต้ประกันการดูแลสุขภาพระยะยาวจากรัฐ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 340,000 คน ในปี 2024 เป็น 590,000 คน ในปี 2050
การประมาณการยังแสดงให้เห็นอีกว่า จำนวนคนวัย 65 ปีขึ้นไปที่ไม่มีลูกจะเพิ่มขึ้นจาก 4.59 ล้านคน ในปี 2024 เป็น 10.32 ล้านคน ในปี 2050 และจำนวนคนที่ไม่ได้แต่งงานคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 3.71 ล้านคน เป็น 8.34 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน
ทั้งนี้ ในประมวลกฎหมายแพ่งของญี่ปุ่นได้กำหนดภาระหน้าที่ของญาติสายตรงถึงลำดับที่ 3 ให้ต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวที่เป็นผู้สูงอายุ
อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีผู้สูงอายุที่มีญาติก็ไม่สามารถพึ่งพาญาติได้ เนื่องจากความสัมพันธ์ที่ตึงเครียด ซึ่งตามตัวเลขประมาณการ คนอายุเกิน 65 ปีที่ไม่สามารถคาดหวังความช่วยเหลือทางการเงินจากญาติในยามฉุกเฉินมีจำนวน 7.9 ล้านคน ในปี 2024 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 8.9 ล้านคน ในปี 2050