
“เวอร์ชวลแบงก์” (Virtual Bank) หรือ “ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา” นั้นมีการคาดการณ์ว่าจะเริ่มทำกำไรได้ในปีที่ 3-5 ของการดำเนินงาน แต่จากหลายกรณีในต่างแดน พบว่าธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาจำนวนมากยังไม่สามารถทำกำไรได้ แม้ว่าดำเนินการมาถึงช่วงปีที่คาดการณ์ว่าจะทำกำไรได้แล้ว
อย่างกรณีของฮ่องกง ล่าสุดมีการหยิบยกข้อมูลมารายงานโดย “นิกเคอิ เอเชีย” (Nikkei Asia) ระบุว่า ในปีที่ 4 ของการเปิดให้บริการ เวอร์ชวลแบงก์ในฮ่องกงยังไม่สามารถทำกำไรได้ เพราะปริมาณธุรกรรมยังน้อย
ตามเอกสารที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 กันยายน ธนาคารไร้สาขาทั้ง 8 ธนาคาร ที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทชั้นนำ เช่น แอนท์ กรุ๊ป (Ant Group), เทนเซนต์ (Tencent), เสี่ยวหมี่ (Xiaomi), ผิงอัน อินชัวรันซ์ (Ping An Insurance), ธนาคารเพื่ออุตสาหกรรมและการพาณิชย์แห่งประเทศจีน (Industrial and Commercial Bank of China), แบงก์ ออฟ ไชน่า (Bank of China) และสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (Standard Chartered) รายงานผลขาดทุนก่อนภาษีเงินได้รวมกัน 1,280 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 5,515 ล้านบาท) ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้
ถือว่ายังดีที่ผลขาดทุนลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งผลขาดทุนรวมอยู่ที่ 1,430 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 6,162 ล้านบาท)
ข้อมูลจากธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority : HKMA) ระบุว่า เวอร์ชวลแบงก์ในฮ่องกงมีผู้ใช้บริการฝากเงินมากกว่า 2.2 ล้านคน ในปี 2023 คิดเป็น 8.8% ของตลาดธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อย แต่ตามมาตรวัดอื่น ๆ ได้แก่ สินเชื่อและเงินล่วงหน้า สินทรัพย์ และจำนวนเงินฝาก ส่วนแบ่งการตลาดของเวอร์ชวลแบงก์อยู่ที่ 0.3% เท่านั้น
ธนาคารหรือบริษัทที่กระโดดเข้าสู่ธุรกิจเวอร์ชวลแบงก์ไม่ได้คาดว่าจะทำกำไรได้ในปีแรก ๆ อยู่แล้ว เนื่องจากทราบดีว่ามีต้นทุนสูงในการดึงดูดลูกค้า เนื่องจากตลาดบริการทางการเงินของฮ่องกงมีธนาคารจำนวนมากเกินไป ยังไม่นับปัจจัยลบอื่น ๆ อย่างผลกระทบจากโรคโควิด-19 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
แม้ว่าสภาพแวดล้อมที่อัตราดอกเบี้ยสูงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ธนาคารต่าง ๆ ได้เห็นการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Income) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญถึงความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เวอร์ชวลแบงก์ในฮ่องกงมีความสามารถในการทำกำไรขึ้นมาได้
แล้วยิ่งในตอนนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยลงแล้ว ดอกเบี้ยในฮ่องกงก็ต้องลดลงตาม ซึ่งดอกเบี้ยที่ต่ำลงก็หมายถึงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำกำไรของเวอร์ชวลแบงก์ในฮ่องกงลดน้อยลงไป ยิ่งทำให้ทำกำไรยากกว่าช่วงที่ผ่านมา เว้นเสียแต่ว่าดอกเบี้ยที่ลดลงจะกระตุ้นให้คนกู้ยืมเงินมากขึ้น
สำหรับเวอร์ชวลแบงก์ หรือธนาคารไร้สาขา “การรับฝากเงินและการให้กู้ยืมเงิน” ยังคงเป็นกุญแจหลักในการสร้างผลกำไร แม้ว่าค่าธรรมเนียมจากการบริหารจัดการความมั่งคั่งจะเพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นจากจุดเริ่มต้นที่ต่ำ ซึ่งผู้ให้บริการเวอร์ชวลแบงก์บางรายกำลังคาดหวังว่า สภาพแวดล้อมที่อัตราดอกเบี้ยต่ำลงจะกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายสินทรัพย์มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารไร้สาขามีรายได้จากการบริหารจัดการความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น
เมื่อเห็นสถานการณ์เช่นนี้ ธนาคารกลางฮ่องกงแนะว่า เวอร์ชวลแบงก์ในฮ่องกงควรเตรียมพร้อมให้บริการแก่ผู้ที่ไม่ใช่ชาวฮ่องกงด้วย แต่จะช่วยให้ทำกำไรได้มากแค่ไหนนั้น ยังไม่แน่นอน นอกจากนั้น ยังกล่าวอีกว่า ในระยะนี้ยังไม่มีเหตุผลที่แข็งแรงและสมเหตุสมผลพอที่จะมีการเปิดธนาคารไร้สาขาเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ เพราะเท่าที่มีอยู่ 8 ธนาคารก็ยังไม่มีรายไหนที่ทำกำไรได้
ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนคาดว่าอุตสาหกรรมธนาคารไร้สาขาในฮ่องกงจะต้องรวมกำลังกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ซึ่งนั่นหมายความว่าจะมีการควบรวมกิจการ และจำนวนธนาคารไร้สาขาจะลดน้อยลงกว่านี้