ราตัน ทาทา (Ratan Tata) นักธุรกิจชื่อดังชาวอินเดีย ซึ่งเสียชีวิตในวัย 86 ปี เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2024 ได้รับการยกย่องว่าเป็น “มนุษย์ที่ไม่ธรรมดา” และมีคุณูปการต่อประเทศชาติอินเดีย ในชีวิตการทำงาน 5 ทศวรรษของราตันที่ “ทาทา กรุ๊ป” (TATA Group) ผลงานสำคัญของเขา คือ การทำให้บริษัทสัญชาติอินเดียเป็นที่รู้จักในฐานะบริษัทระดับโลก
หากเรามองเผิน ๆ ว่าราตันมีนามสกุล “ทาทา” ก็อาจจะกล่าวได้ว่าการที่ราตันเข้าไปทำงานในทาทา กรุ๊ป และได้เป็นผู้บริหารบริษัทนั้นเป็นไปตามวิถีการสืบทอดธุรกิจครอบครัวทั่วไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่เขาได้รับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดนั้นไม่ใช่เส้นทางที่มีอะไรการันตีไว้ตั้งแต่ต้น เพราะราตันไม่ได้เกิดมาเป็นทายาทสายตรงของผู้ก่อตั้งทาทาแต่อย่างใด นะวัล ทาทา (Naval Tata) พ่อของราตันเป็นเพียงญาติของตระกูลทาทาที่ ราตันจี ทาทา (Ratanji Tata) ลูกชายของ จัมเซตจี ทาทา (Jamsetji Tata) ผู้ก่อตั้งทาทารับเอามาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรมเท่านั้น
ราตันผู้จบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ตั้งใจว่าจะใช้ชีวิตหลังเรียนจบที่สหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำ แต่เขาต้องกลับมาอินเดียและเข้าทำงานในทาทาตามคำขอของคุณย่า (แม่บุญธรรมของพ่อ) ซึ่งเลี้ยงดูเขามา
ราตันเริ่มทำงานระดับปฏิบัติการที่โรงงานเหล็กของ ทาทา อินดัสทรีส์ (Tata Industries) ในปี 1962 ก่อนจะได้เลื่อนเป็นระดับผู้จัดการในช่วงทศวรรษ 1970 จากนั้นในปี 1991 เขาได้สืบทอดตำแหน่ง “ประธานบริษัท” ของทาทา กรุ๊ป ต่อจาก เจ.อาร์.ดี. ทาทา (J.R.D. Tata) ซึ่งมีศักดิ์เป็นเสมือนปู่ของเขา (พ่อของ เจ.อาร์.ดี.เป็นญาติผู้น้องของจัมเซตจี ผู้ก่อตั้งทาทา เจ.อาร์.ดี.จึงเป็นญาติผู้น้องของปู่ราตันจีของราตัน แต่วัยใกล้เคียงกับพ่อของราตัน)
เมื่อราตันเริ่มรับตำแหน่งประธานบริษัท เขาต้องนำพาบริษัทฝ่ากระแสการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจซึ่งรัฐบาลอินเดียให้เริ่มต้นในปีเดียวกันนั้น
ภายใต้การนำทัพของราตัน ซึ่งเป็นประธานบริษัทคนที่ 4 ทาทาได้ขยายธุรกิจจากการเป็นบริษัทใหญ่ในอินเดียออกไปเป็นบริษัทระดับโลก โดยเข้าซื้อกิจการระดับโลก ทั้งการซื้อบริษัทชา “เท็ตเล่” (Tetley) ของอังกฤษในปี 2000 และในปี 2007 ทาทาเข้าซื้อบริษัทเหล็ก คอรัส (Corus) ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษ-ดัตช์ ตามด้วยการซื้อแบรนด์รถยนต์อังกฤษ จากัวร์ (Jaguar) กับแลนด์โรเวอร์ (Land Rover) มาจากบริษัทฟอร์ด มอเตอร์ (Ford Motor) ในปี 2008 ซึ่งการเข้าซื้อกิจการบริษัทระดับโลกเหล่านี้เป็นการพาชื่อของ “ทาทา” ออกไปให้โลกรู้จักและตกตะลึง
นอกจากนั้น ทาทา กรุ๊ป ในยุคของราตันยังขยายไปทำธุรกิจอื่น ๆ อย่าง โทรคมนาคม ไอที ประกันภัย การเงิน ค้าปลีก และมีการสร้างแบรนด์รถยนต์ของตัวเองภายใต้บริษัท ทาทา มอเตอร์ส (Tata Motors) ที่หมายมั่นจะให้เป็นรถยนต์ของคนรายได้น้อย แต่กลับเป็นหนึ่งธุรกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม การบริหาร ทาทา กรุ๊ป ของราตัน ประสบความสำเร็จอย่างยิง เขาพาบริษัทเติบโตขึ้นโดยการพัฒนานวัตกรรม การเข้าซื้อกิจการ การลดหรือหยุดการลงทุนชั่วคราวตามความเหมาะสมของสถานการณ์ การขายธุรกิจในต่างประเทศไปกว่า 100 ประเทศ และการปรับปรุงการกำกับดูแลให้ดีขึ้น
ก่อนที่ราตันจะเข้ารับตำแหน่งประธานในปี 1991 ทาทา กรุ๊ป มีรายได้ราวปีละ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และตัวเลขนั้นได้เพิ่มขึ้นจนทะลุ 100,000 ล้านดอลลาร์ ภายใต้การบริหารของเขา ก่อนที่เขาจะวางมือในปี 2012 ทั้งนี้ รายได้กว่า 60% ของทาทามาจากต่างประเทศ
ราตันนำทัพ ทาทา กรุ๊ป ด้วยคติที่ว่า “คิดการใหญ่”, “ตั้งคำถามกับสิ่งที่ไม่สามารถตั้งคำถามได้” และ “จงเป็นผู้นำเสมอ อย่าเป็นผู้ตามเด็ดขาด”
ขณะที่ตั้งเป้าขยายธุรกิจ สิ่งที่เป็นแรงขับเคลื่อนจากภายในที่สำคัญของราตัน คือ ความรู้สึกเจ็บปวดจากยุคอาณานิคม ดังนั้น การที่บริษัททาทาจากอินเดียมุ่งเป้าเข้าซื้อกิจการบริษัทอังกฤษ หาใช่ความบังเอิญหรือเหตุผลทางธุรกิจเท่านั้น แต่เป็นการดำเนินธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยความคับแค้นใจของชาวอินเดียคนหนึ่งที่มีต่ออังกฤษ
ราตันเคยเล่าว่า “ผมได้เห็นชาวอินเดียทนทุกข์ทรมานจากการปกครองอาณานิคมของอังกฤษ และเห็นว่าชาวอินเดียต่อต้านการกดขี่ข่มเหงมาโดยตลอด ผมไม่สามารถพูดคำใด ๆ ออกมาจากความรู้สึกที่ซับซ้อนเหล่านี้ได้” นั่นเป็นแรงผลักดันให้ราตันนำบริษัททาทาที่ก่อตั้งขึ้นในยุคอาณานิคมไปซื้อกิจการบริษัทเหล็กและแบรนด์รถยนต์อันเป็นสัญลักษณ์ของภาคอุตสาหกรรมการผลิตของอังกฤษ
ราตันเคยเล่าด้วยว่า ความทะเยอทะยานของเขาในการที่จะซื้อกิจการบริษัทอังกฤษนั้น ไม่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการบริษัทที่อายุมาก ๆ และนั่นเป็นเหตุผลที่เขาต้องออกนโยบายกำหนดการเกษียณอายุขึ้นมา เพื่อลดบทบาทของคนรุ่นก่อนหน้า
ความความมุ่งมั่นที่จะเอาคืนอังกฤษ บวกกับทะเยอทะยานทางธุรกิจที่สะท้อนออกมาในการขยายธุรกิจและความสำเร็จของ ทาทา กรุ๊ป ภายใต้การบริหารของราตันอาจจะไม่สอดคล้องกันเท่าไรนักกับที่เขาเคยกล่าวว่า “คนขี้อายและเก็บตัวอย่างผม ไม่เหมาะที่จะเป็นผู้นำบริษัทใหญ่ ๆ อย่าง ทาทา กรุ๊ป”
อ้างอิง :