3 ผู้ศึกษาความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่งระหว่างประเทศ คว้าโนเบลเศรษฐศาสตร์

โนเบล เศรษฐศาสตร์
การประกาศลรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2024 ที่ราชบัณฑิตยสภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน ทกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน วันที่ 14 ตุลาคม 2024 (ภาพโดย TT News Agency/ Christine Olsson via REUTERS)

3 นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันคว้ารางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ จากผลงานการศึกษาวิจัยเรื่องความสำคัญของสถาบันทางสังคมต่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ ซึ่งอธิบายว่าเหตุใดสังคมที่มีหลักนิติธรรมที่แย่และสถาบันทางสังคมที่เอาเปรียบประชาชนจึงไม่สามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ เป็นการอธิบายสาเหตุรากเหง้าของความไม่เท่าเทียมของความมั่งคั่งระหว่างประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

วันที่ 14 ตุลาคม 2024 ซีเอ็นบีซี (CNBC) รายงานการประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2024 ว่า ดารอน อะเซโมกลู (Daron Acemoglu) ไซมอน จอห์นสัน (Simon Johnson) และเจมส์ โรบินสัน (James Robinson) สามนักเศรษฐศาสตร์จากสหรัฐอเมริกาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2024 จากผลงานการศึกษาวิจัยเรื่องความสำคัญของสถาบันทางสังคมต่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ ซึ่งช่วยอธิบายเกี่ยวกับสาเหตุรากเหง้าของความไม่เท่าเทียมกันของความมั่งคั่งระหว่างประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

คณะกรรมการรางวัลโนเบลกล่าวว่า การศึกษาวิจัยของนักวิชาการทั้งสามคนช่วยแสดงให้เห็นว่า เหตุใดสังคมที่มี “หลักนิติธรรมที่ย่ำแย่และสถาบันที่เอารัดเอาเปรียบประชากรจึงไม่สามารถสร้างการเติบโต [ทางเศรษฐกิจ] หรือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้” ซึ่งแสดงให้เห็นถึง “ความสำคัญของสถาบันทางสังคมที่มีต่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ”

ทั้งนี้ อะเซโมกลู และจอห์นสัน เป็นศาสตราจารย์ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ขณะที่โรบินสัน เป็นผู้อำนวยการสถาบันเพียร์สันเพื่อการศึกษาและแก้ปัญหาความขัดแย้งระดับโลก (Pearson Institute for the Study and Resolution of Global Conflicts) แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ซึ่งเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคแอฟริกาใต้ ทะเลทรายซาฮารา และภูมิภาคละตินอเมริกา

ดารอน อะเซโมกลู และไซมอน จอห์นสัน ร่วมเขียนหนังสือยอดนิยมที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2012 เรื่อง “Why Nations Fail: The Origins of Power, Prosperity, and Poverty” ซึ่งสำรวจถึงรากเหง้าของความไม่เท่าเทียม และอธิบายว่าเหตุใดบางประเทศจึงประสบความสำเร็จในการสร้างความมั่งคั่งและอิทธิพล

โนเบลเศรษฐศาสตร์
การประกาศรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2024 ที่ราชบัณฑิตยสภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน วันที่ 14 ตุลาคม 2024 (ภาพโดย TT News Agency/ Christine Olsson via REUTERS)

คณะกรรมการโนเบลระบุในแถลงการณ์ว่า ในปัจจุบันประเทศที่ร่ำรวยที่สุด 20% แรกของโลก มีความมั่งคั่งมากกว่าประเทศที่ยากจนที่สุด 20% แรกของโลกประมาณ 30 เท่า โดยประเทศที่ร่ำรวยที่สุดมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ประเทศที่ยากจนที่สุดก็ไม่สามารถจะเพิ่มความมั่งคั่งเพื่อขยับช่องว่างนี้ให้แคบลงได้ 

ADVERTISMENT

นอกจากนั้น คณะกรรมการกล่าวว่า ผู้ได้รับรางวัลช่วยอธิบายว่า ระบบการเมืองและเศรษฐกิจที่ประเทศเจ้าอาณานิคมนำมาใช้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา มีส่วนสำคัญอย่างไรในการสร้างความไม่เท่าเทียมนี้ และทำให้ประเทศที่เคยร่ำรวยที่สุดในช่วงเวลาของการล่าอาณานิคม กลับกลายเป็นกลุ่มที่ยากจนที่สุดในปัจจุบัน

จาค็อบ สเวนส์สัน (Jakob Svensson) ผู้อำนวยการและศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ สถาบันเพื่อการศึกษาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (Institute for International Economic Studies) มหาวิทยาลัยสตอกโฮล์ม กล่าวว่า นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ทั้งสามเป็นผู้บุกเบิกแนวทางใหม่ ๆ ทั้งเชิงประจักษ์และเชิงทฤษฎี ซึ่งช่วยเพิ่มความเข้าใจอย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ

ADVERTISMENT

สเวนส์สันกล่าวอีกว่า คำถามที่ว่าทำไมช่องว่างระหว่างประเทศที่ยากจนและร่ำรวยจึงยังคงมีอยู่ นั้นไม่ใช่คำถามใหม่ แต่ยังคงเป็นคำถามที่จำเป็นต้องหาคำตอบอย่างเร่งด่วนที่สุดในบรรดาคำถามต่าง ๆ ของสาขาสังคมศาสตร์

ทั้งนี้ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเรียกอย่างเป็นทางการว่า “รางวัลธนาคารกลางสวีเดนในสาขาเศรษฐศาสตร์เพื่อรำลึกถึงอัลเฟรด โนเบล” (Sveriges Riksbank Prize in Economic Sciences in Memory of Alfred Nobel) จะได้รับเงินรางวัล 11 ล้านโครนสวีเดน (ประมาณ 35.10 ล้านบาท) จากธนาคารกลางสวีเดน โดยเงินรางวัลจะถูกแบ่งให้ผู้ได้รับรางวัลอย่างเท่า ๆ กัน