
รศ.ดร.จิตติภัทร พูนขำ จากรัฐศาสตร์ มธ. และ ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล จากภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มศว. วิเคราะห์เลือกตั้งสหรัฐส่งผลต่อไทยอย่างไร เห็นพ้องสนับสนุนใช้นโยบายการทูตเชิงรุก และหาจุดที่ไทยจะได้ประโยชน์ แต่ต้องเป็นจุดยืนที่อยู่บนหลักการที่นานาชาติยอมรับ
วันที่ 17 ตุลาคม 2024 รศ.ดร.จิตติภัทร พูนขำ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมเสวนาหัวข้อ “เลือกตั้งอเมริกาส่งผลต่อไทยอย่างไร” บนเวทีสัมมนา “US 2024 เจาะลึกศึกชิงทำเนียบขาว” ณ เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท อาคารเกษรทาวเวอร์ จัดโดยเครือมติชนและพันธมิตร นำโดยสมาคมอเมริกันศึกษาในประเทศไทย และคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพันธมิตรหน่วยงานต่าง ๆ
รศ.ดร.จิตติภัทร พูนขำ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ว่า แนวโน้มนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ได้แสดงให้เห็นแล้วในสมัยที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก ส่วนคามาลา แฮร์ริส จะเป็นรัฐบาล “ไบเดน 2.0” คือสานต่อนโยบายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน
ทรัมป์กับไบเดนมีความต้องการ หรือให้ความสำคัญกับคุณค่าร่วมบางอย่าง และนโยบายต่ออินโด-แปซิฟิกก็ไม่ได้ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ คือ หนึ่ง-การคงบทบาทความเป็นผู้นำของสหรัฐ ซึ่งกำหนดไว้ในแผนความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ สอง-เน้นสร้างกติกา สร้างระเบียบโลก บนฐานของประชาธิปไตย สาม-มองจีนเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ สี่-การสร้างพันธมิตรในภูมิภาคเพื่อถ่วงดุลกับจีน
ส่วนความต่างคือ ไบเดนมีนโยบายเสรีนิยมกว่า ให้ความสำคัญกับด้านสิทธิมนุษยชนมากกว่า แฮร์ริสก็เช่นกัน ขณะที่ทรัมป์ไม่ได้ให้คุณค่าเรื่องเสรีนิยมและสิทธิมนุษยชนมากนัก และนโยบายของทรัมป์จะคาดเดายาก เป็นการตัดสินใจรายวัน หรืออาจจะรายชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเห็นสหรัฐสร้างพันธมิตรมากขึ้น ทั้งเสริมความแน่นแฟ้นของพันธมิตรดั้งเดิม และสร้างระบบพันธมิตรใหม่ ซึ่งทั้งทรัมป์และไบเดนทำทั้งคู่ และจะเห็นการดำเนินนโยบายนี้ต่อเนื่องไป ไม่ว่าประธานาธิบดีจะเป็นทรัมป์หรือแฮร์ริสก็ตาม

สำหรับผลกระทบต่อไทย รศ.ดร.จิตติภัทรมองว่าไทยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐแค่ในนาม แต่ความร่วมมือที่แท้จริงน้อย ถ้าเทียบสหรัฐกับประเทศอื่น ๆ ที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐจริง ๆ อย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้
ในสมัยของไบเดน นโยบายที่มีต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกนั้น มีการประสานเชื่อมโยงนโยบายความมั่นคงและเศรษฐกิจสอดรับกันอย่างแนบแน่นมีนัยสำคัญ เกิดคำสัญญาคำหนึ่งคือ “Friend-Shoring” คือการสร้างฐานการผลิตในประเทศที่เป็นพันธมิตรเท่านั้น ซึ่งคำถามสำคัญสำหรับไทยคือ ไทยสามารถเป็นหนึ่งใน Friend-Shoring ของสหรัฐได้ไหม
สำหรับการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทย รศ.ดร.จิตติภัทรแนะว่า ไทยต้องตั้งสติดี ๆ สหรัฐมีผลประโยชน์แห่งชาติของเขา ไทยต้องดูว่าผลประโยชน์แห่งชาติของเขาตรงกับผลประโยชน์แห่งชาติของไทยหรือไม่ ผลประโยชน์ของไทยสอดคล้องกับชาติไหนก็เลือกทางนั้น แต่ผลประโยชน์ของไทยต้องวางอยู่บนหลักการระหว่างประเทศด้วย ไทยจึงจะมีจุดยืนที่สง่างามในเวทีโลกได้
“ในภาพใหญ่ การเมืองและความมั่นคง ไทยไม่ได้อยู่ในจอเรดาร์ของสหรัฐมากเท่าไรนัก สิ่งที่ไทยต้องทำคือ อย่างไรให้สร้างสมดุลระหว่างสหรัฐกับจีน และประเทศอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี และให้ประโยชน์กับเรา”
สำหรับคำถามว่า นโยบายการต่างประเทศแบบ “การทูตไผ่ลู่ลม” ยังจำเป็นต้องทำหรือไม่นั้น ดร.จิตติภัทรกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่าไทยนิยามคำนี้อย่างไร อย่างเวียดนามประกาศชัดว่าใช้นโยบายนี้แบบเชิงรุก แต่ไทยมองในนิยามเชิงรับเป็นไผ่ลู่ลมรอตามลม ไทยควรปรับเป็นเชิงรุก ไทยต้องลู่ก่อนลมบ้าง ต้องคาดการณ์ก่อนว่ามหาอำนาจจะเดินเกมอย่างไร แล้วไทยเดินนโยบายที่จะสอดรับหรือให้ประโยชน์ไปก่อนล่วงหน้า
นอกจากนั้น ดร.จิตติภัทรแนะนำว่า ไทยควรวางตัวเป็น “มิดเดิลพาวเวอร์” (Middle Power) หรือ “ประเทศอำนาจปานกลาง” มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันไทยยังขาดการสร้างนโยบายยุทธศาสตร์ที่จะเป็นมิดเดิลพาวเวอร์
“มหาอำนาจโลกกำลังเล่นบนเกมที่ไม่ใช่โลกาภิวัตน์ (Globalization) คือเล่นเกมภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) แต่ไทยยังเล่นบนเกมโลกาภิวัตน์อยู่ เราเจอการย้ายฐานการผลิต (Relocation) ออกไปตั้งแต่ก่อนโควิด และยังเจอหลายประเทศย้ายกลับไปผลิตในประเทศ (Reshoring) หรือย้ายไปผลิตในประเทศที่ใกล้ตลาด (Near-Shoring) อีก” ดร.จิตติภัทรกระตุ้นเตือน

ด้าน ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน นโยบายขอแฮร์ริสคงจะสืบทอดมาจากโจ ไบเดน โดยการนำเรื่องประชาธิปไตยและมนุษยชนมาเป็นนโยบายต่างประเทศ
ถ้าวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดกับไทย คือเรื่องสิทธิมนุษยชนจะถูกนำกลับมาใช้กับไทยอีกครั้ง อย่างเช่น การลงโทษหรือการตัดสิทธิบางอย่างด้วยเหตุผลด้านสิทธิมนุษยชน ดังนั้น ไทยต้องทำให้โลกมองว่าเรามีบทบาทในเรื่องนี้ เพื่อที่จะสร้างการยอมรับเรื่องสิทธิมนุษยชน และทำให้ไทยถูกมองในแง่ดีมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ไทยก็กำลังมองหาจุดยืนของตนเองอยู่
ในสมัยทรัมป์ ผลกระทบจากด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเจอ คือการตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) เพราะสหรัฐขาดดุลการค้าไทย โดยรัฐบาลสหรัฐอ้างเหตุผลการตัดสิทธิว่าไทยมีปัญหาการค้ามนุษย์ และละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หากทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย คาดว่าไทยจะเจอผลกระทบที่คาดเดาไม่ได้อีกเช่นเคย
ในด้านนโยบายต่างประเทศ ผศ.ดร.ประพีร์กล่าวชื่นชมรัฐบาลที่ผ่านมาถึงการแก้ปัญหาเมื่อจำเป็นต้องเลือกข้าง และแสดงความเห็นว่า ไม่ใช่แค่ไทยที่เจอปัญหานี้ แต่ประเทศต่าง ๆ ทั้งอาเซียนล้วนถูกบีบให้เลือกข้างเช่นกัน ถ้าโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี อาเซียนจะยิ่งถูกบีบให้เลือกข้างมากกว่ากรณีที่ คามาลา แฮร์ริส เป็นประธานาธิบดี
ผศ.ดร.ประพีร์แสดงความเห็นว่า นโยบายที่น่าสนใจ คือทำอย่างไรให้ทั้งสองฝ่ายดีกับเรา การเข้าร่วมทั้งความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่นำโดยจีน และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ของสหรัฐ เหมือนเป็นกลยุทธ์ของไทยที่พยายามจะเข้ากับทั้งสองฝั่ง ถ้าไทยสามารถเล่นแนวทางนี้ได้อย่างแยบยลและมีศิลปะ น่าจะทำให้ไทยดูดีขึ้นในสายตานานาชาติ และสามารถเอาตัวรอดได้
ผศ.ดร.ประพีร์แนะด้วยว่า การดำเนินนโยบาย “การทูตเชิงรุก” ถ้ารุกได้อย่างมีกลยุทธ์จริง ๆ เชื่อว่าไทยจะได้ประโยชน์ด้วย นอกจากนั้น อีกแนวทางที่มองว่าน่าสนใจ คือการทูตรอบทิศทาง ที่ไม่โฟกัสแค่สองฝั่งนี้ แต่ไทยต้องเป็นเพื่อนได้หมด ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ ไทยต้องมีจุดยืนที่สากลยอมรับ คือ เคารพกฎหมายสิทธิมนุษยชน เป็นประชาธิปไตย