นักวิชาการมองนโยบายภาษีทรัมป์กระทบไทย แฮร์ริสได้เปรียบจากนโยบายหนุนสิทธิทำแท้ง

บรรยากาศภายในงาน US Election 2024 จัดโดยมติชนและพันธมิตร เมื่อ 17 ตุลาคมที่อาคารเกสร ทาวเวอร์

นักวิชาการจุฬาฯ มองนโยบายขึ้นภาษีสินค้าระหว่างประเทศของโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนรีพับลิกันเปลี่ยนรูปโฉมของระเบียบระหว่างประเทศโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ และกระทบไทยพอสมควร ขณะที่อดีตนักสิทธิมนุษยชนวิเคราะห์นโยบายแฮร์ริสเน้นหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมากกว่าทรัมป์

วันที่ 17 ตุลาคม 2024 ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์นโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ แคนดิเดตจากพรรครีพับลิกัน ในงาน US Election 2024 หรือเจาะลึกศึกชิงทำเนียบขาว จัดโดยมติชนและพันธมิตร ที่ห้องคริสตัล บ็อกซ์ เออร์เบิน รีสอร์ท อาคารเกสร ทาวเวอร์

อาจารย์สิริพรรณกล่าวว่า นโยบายทางเศรษฐกิจของทรัมป์ที่เพิ่มอัตราภาษีสินค้าระหว่างประเทศกระทบโดยตรงต่อไทย โดยการจะขึ้นภาษี 10-20 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมเก็บอยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าสูงมาก การดำเนินนโยบายดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนรูปโฉมใหม่ของระเบียบระหว่างประเทศ โดยเฉพาะระเบียบทางเศรษฐกิจของโลก ไม่ใช่เพียงการเมือง ความมั่นคง

อาจารย์สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ยังขยายความอีกว่า เราทราบว่าทรัมป์หาเสียงด้วยการบอกว่า ทรัมป์จะขึ้นภาษีราว 10-20 เปอร์เซ็นต์ กระทบต่อผู้ส่งออกไทยที่ต้องจ่ายค่าภาษีนำเข้ามากขึ้น และผู้ประกอบการไทยอาจขึ้นราคาสินค้า ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น กระทบต่อผู้บริโภค

นโยบายกระเป๋า หรือที่เรียกว่าอำนาจของกระเป๋าเงิน (Power of Purse) ใช้เรียกนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ที่ได้ใจประชาชนอเมริกันมาโดยตลอด โดยใช้เครื่องมือทางภาษีในการดำเนินนโยบายตามกฎหมายปฏิรูปภาษีสหรัฐ หรือ Tax cuts and Jobs act of 2017 ทรัมป์ใช้กฎหมายนี้ตั้งแต่ปี 2018 คือการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 21% จาก 35% และส่งเสริมภาคการผลิตในประเทศที่ไม่สามารถแข่งขันได้ ขณะเดียวกัน ดึงดูดบรรษัทข้ามชาติของสหรัฐให้กลับมาสร้างรายได้ให้ประเทศ

ดังนั้น กลุ่มผู้ประกอบการได้ประโยชน์จากการลดภาษีของทรัมป์ จึงเท่ากับว่าตรงใจคนส่วนบนสุดและล่างสุด ส่วนคนชั้นกลางหนุนเดโมแครต

อีกจุดเด่นของทรัมป์ คือนโยบายผู้อพยพ ซึ่งทรัมป์ใช้โจมตีคามาลา แฮร์ริส ตัวแทนจากเดโมแครตมาโดยตลอด เพราะเป็นปัญหาที่กระทบความมั่นคงภายใน ความปลอดภัยของคนอเมริกันเอง จากสถิติปี 2023 ภายใต้รัฐบาลไบเดน มีผู้อพยพทั้งที่เข้ามาแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมายเข้ามาในสหรัฐมากเป็นประวัติการณ์กว่า 300,000 คน และที่อยู่หน้าด่านชายแดนอีกนับล้านคน ซึ่งสมัยทรัมป์ไม่มากเท่านี้ ทรัมป์มองว่าผู้อพยพมาแย่งงาน ระบบสาธารณสุข และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่ออาชญากรรมในสหรัฐ ดังนั้น นโยบายอเมริกาต้องมาก่อน สำหรับผู้สนับสนุนทรัมป์แล้ว จึงหมายถึงการต้องดูแลคนอเมริกันก่อนนั่นเอง

ADVERTISMENT

อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังกล่าวอีกว่า ปัญหาที่ทรัมป์แก้ไม่ตก คือสิทธิในการทำแท้ง ทรัมป์ไม่ได้สนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจังนัก ปัญหาที่ถือเป็นตราบาปของทรัมป์นี้เกิดมาจากสมัยที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุด (Supreme Court) 3 คน จาก 7 คน ซึ่งทั้ง 3 คนออกเสียงยกเลิกการสนับสนุนการทำแท้งทั้งสิ้น ทำให้แฮร์ริสได้ฐานเสียงสำคัญจากผู้หญิงไป

สำหรับปัจจัยอื่น ๆ ที่น่าจับตามอง คือเรื่องคดีความของทรัมป์ ทั้งคดีที่มีการตัดสินไปแล้วและคดีที่รอการตัดสิน ในส่วนของคดีที่รอการตัดสินรวมถึงคดีที่เรียกว่าคดี 6 มกรา

ด้านฟิล โรเบิร์ตสัน (Phil Robertson) อดีตประธานกลุ่มคนอเมริกันที่เป็นสมาชิกพรรคเดโมแครตในประเทศไทย และอดีตรองผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย Human Right Watch เป็นผู้บรรยายในหัวข้อ เจาะลึกคามาลา-นโยบายเดโมแครต

ฟิล โรเบิร์ตสัน อดีตประธานกลุ่มคนอเมริกันที่เป็นสมาชิกพรรคเดโมแครตในประเทศไทยและอดีตนักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

เริ่มแรก ฟิล โรเบิร์ตสัน เล่าถึงปูมหลังความเป็นมาของคามาลา แฮร์ริสก่อน โดยชี้ว่าสาธารณชนค่อนข้างรู้จักทรัมป์เป็นอย่างดี แต่คามาลา แฮร์ริส ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักสักเท่าไรนัก

คามาลา แฮร์ริส เป็นลูกครึ่งเชื้อสายจาเมกา อินเดีย เติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางที่ย่านบรู๊กลิน โดยมีพ่อแม่เป็นนักกิจกรรมการเมืองที่มีความสนใจในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ทำให้แฮร์ริสมีความคิดในทางก้าวหน้าและคุ้นเคยกับหลายวัฒนธรรมเป็นอย่างดี

จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตเกิดขึ้นช่วงที่แฮร์ริสเรียนมัธยมปลายที่มอนทรีออล แคนาดา ซึ่งเพื่อนสนิทของแฮร์ริสถูกข่มขืน นั่นจึงทำให้แฮร์ริสตัดสินใจเป็นอัยการ เพราะต้องการช่วยเหลือผู้อื่นด้วยกฎหมาย โดยเรียนต่อด้านกฎหมายที่ฮาร์วาร์ด

ในด้านนโยบาย ฟิล โรเบิร์ตสัน เน้นย้ำถึงความแตกต่างให้เห็นระหว่างคามาลา แฮร์ริส และโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างชัดเจน ตั้งแต่เรื่องสิทธิการทำแท้ง ปัญหาผู้อพยพ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นโยบายการค้า ประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และความมั่นคง

เริ่มจากสิทธิการทำแท้ง แฮร์ริสสนับสนุนให้ประชาชนสหรัฐทำแท้งได้อย่างเสรี แต่ปัจจุบันการทำแท้งในสหรัฐไม่อาจทำได้ในบางรัฐ อันเป็นผลสืบเนื่องจากผลของการที่ทรัมป์แต่งตั้งศาลสูงฝั่งตัวเอง 3 คน จนมีคำพิพากษายกเลิกคำตัดสินคดี Roe v Wade ที่เคยพิพากษาเมื่อปี 1973 ว่าการทำแท้งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

ปัญหาผู้อพยพ แม้ทรัมป์จะโจมตีแฮร์ริสอย่างหนักว่าไม่ได้แก้ไขปัญหาต่างไปจากสมัยที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งสักเท่าไร แต่แฮร์ริสโต้กลับว่า การโจมตีของทรัมป์เป็นไปเพื่อหวังผลทางการเมือง แต่ไม่ได้ต้องการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เนื่องจากทรัมป์ล็อบบี้ให้ผู้แทนในสภาคองเกรสคว่ำข้อเสนอเสริมการตรวจตราป้องกันการลักลอบปืน ยาเสพติด และคนข้ามแดนของรัฐบาลไบเดน

ด้านเทคโนโลยี คามาลา แฮร์ริส ผลักดันการผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมชิปเซมิคอนดักเตอร์ภายในสหรัฐไว้แข่งขันกับจีน ฟิล โรเบิร์ตสัน มองว่าทรัมป์ไม่ได้เข้าใจเทคโนโลยีมากนัก และคงไม่มีนโยบายรับมืออย่างอื่นนอกจากการขึ้นกำแพงภาษี ซึ่งแฮร์ริสเตือนว่าการตั้งกำแพงภาษีถ้วนหน้า 10-20% ของทรัมป์จะก่อให้เกิดเงินเฟ้ออย่างไม่จำเป็น

ด้านปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ทรัมป์ดึงอเมริกาออกจากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ตั้งแต่ช่วงแรกของการดำรงตำแหน่ง ทั้งยังบอกอีกด้วยว่านักวิทยาศาสตร์คิดผิด เพราะเขาเชื่อว่าโลกร้อนไม่มีอยู่จริง

ส่วนประเด็นความมั่นคง แน่นอนว่าทรัมป์ต้องการยุติสงคราม ด้วยการหยุดสมทบเงินให้นาโต และปล่อยให้รัสเซียยึดยูเครน แต่ถ้ารัสเซียไม่ได้หยุดอยู่แค่ยูเครน ทรัมป์จะรับมืออย่างไร และในส่วนพื้นที่ตะวันออกกลาง และฉนวนกาซา รัฐบาลไบเดนปล่อยให้เนทันยาฮูโจมตีเลบานอนมากพอสมควร โหวตเตอร์ในรัฐมิชิแกนซึ่งมีสัดส่วนประชากรชาวมุสลิมอยู่มากไม่พอใจพรรคเดโมแครต ด้วยเหตุนี้ แฮร์ริสจึงต้องมองหาแนวทางที่ต่างไปจากไบเดน และเรียกร้องให้มีการหยุดยิง 21 วัน อย่างไรก็ตาม แฮร์ริสยังคงดำเนินนโยบายแนวทางใกล้เคียงจากเดิมในพื้นที่ภูมิภาคเอเชีย