ซาอุดีอาระเบีย-รัสเซีย กุมชะตาราคาน้ำมันโลก ?

(AP Photo/Hussein Malla)

ราคาน้ำมันตลอดเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาแกว่งตัวแรงอย่างเหลือเชื่อ ต้นเดือนกระฉูดขึ้นไปแตะระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงสุดในรอบ 4-5 ปี ก่อนที่พอถึงปลายเดือนก็ร่วงลงมาวูบวาบอีกเช่นเดียวกัน

ที่น่าสนใจก็คือ ตอนที่ราคาน้ำมันลดวูบในช่วงปลายเดือนมาอยู่ที่ 66 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลนั้น ปัจจัยที่ทำให้น้ำมันราคาแพงขึ้นเมื่อตอนต้นเดือนก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม กล่าวคือ โอกาสที่อิหร่านจะเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรุนแรงจากสหรัฐอเมริกายังมีอยู่สูง ขณะที่วิกฤตในเวเนซุเอลา ที่ทำให้ผลผลิตน้ำมันอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 15 ปี ก็ไม่ได้กระเตื้องขึ้นแต่อย่างใด

แต่ตลาดซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้าร่วงลงแรง หลังจากซาอุฯ และรัสเซียออกมายืนยันพร้อมกันว่า เตรียมเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นสู่ระดับก่อน เพราะซาอุฯไม่เพียงเป็นผู้นำกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก ยังเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบสู่ตลาดโลกมากที่สุดด้วย ขณะที่รัสเซียก็เป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปกรายใหญ่ที่สุด

ซาอุฯกับรัสเซีย ให้เหตุผลสำคัญที่กลับมาเพิ่มผลผลิตของตนเองว่า สืบเนื่องจากการจำกัดการผลิตที่ผ่านมานั้นบรรลุเป้าหมายไปเรียบร้อยแล้ว

เมื่อเดือนตุลาคมปี 2016 สมาชิกกลุ่มโอเปกกับน็อนโอเปก รวม 24 ประเทศ ร่วมกันจำกัดปริมาณการผลิตน้ำมันลง โดยระบุว่า ตลาดโลกมีปริมาณน้ำมันดิบเกินจากความต้องการบริโภคจำนวนมาก ทำให้จำเป็นต้องลดการผลิตลงเพื่อขจัดส่วนเกินดังกล่าว ป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะน้ำมันดิบ “ล้นตลาด” ต่อเนื่อง

ในการประชุมกลุ่มโอเปกเมื่อราวกลางเดือนพฤษภาคม มีการนำเสนอว่า ปริมาณน้ำมันดิบส่วนเกินในตลาดถูกขจัดออกไปหมดแล้ว โอเปกสามารถบรรลุเป้าหมายในการจำกัดการผลิตของตนได้ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา

การแสดงท่าทีของซาอุฯ และรัสเซีย เพื่อชดเชยการลดกำลังการผลิตที่ผ่านมาถือว่ามีเหตุผลรองรับ แม้ว่าจะส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันที่กำลังทะยานขึ้นสูงให้ลดลงมาอย่างฮวบฮาบก็ตาม

ปัญหาของ 2 ยักษ์น้ำมันครั้งนี้มีอยู่อย่างเดียวเท่านั้น คือ บรรดาชาติที่เหลืออีก 22 ชาติไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นสู่ระดับเดิม ต้องการให้รักษาระดับการผลิตต่อไปอีก

ซูเฮล อัล มาซรูอี รัฐมนตรีน้ำมันของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นประธานกลุ่มโอเปกยืนยันว่า ท่าทีดังกล่าวเป็นท่าทีที่กำหนดขึ้นเอง ไม่ได้ผ่านการหารือ และย้ำว่า ทั้งซาอุฯและรัสเซีย จำเป็นต้อง “หารือ” กับอีก 22 ประเทศก่อน

แต่ตลาดน้ำมันกลับแสดงออกเป็นการตอบรับการเพิ่มกำลังการผลิตไปก่อนแล้ว โรเจอร์ ไดแวน นักวิเคราะห์ของไอเอชเอส มาร์กิต ระบุว่าถึงแม้ประเทศที่เหลือจะไม่เอาด้วย แต่ทั้ง 2 ชาติ ก็สามารถดำเนินการไปได้ตามลำพัง และส่งผลต่อตลาดได้ในระดับเดียวกัน ดังนั้น 22 ประเทศที่เหลือมีทางเลือกไม่มากนักนอกจากจะยอมตามนโยบายของยักษ์ใหญ่ทั้ง 2 ประเทศ

เหตุผลที่ 22 ประเทศคัดค้านการประกาศเพิ่มกำลังการผลิตดังกล่าวก็เพราะประเทศส่วนใหญ่ไม่สามารถเพิ่มการผลิตของตนเองได้ทันที ต่างกับซาอุฯและรัสเซียที่มีความพร้อมมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เชื่อว่า ซาอุฯกับรัสเซีย อาจโอนอ่อนผ่อนตาม ยอมหารือและหาหนทางรอมชอมในการประชุมร่วมระหว่างโอเปกและประเทศนอกกลุ่มที่กำหนดจะมีขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ เพราะการสร้างพันธมิตร 24 ประเทศนั้นยากเย็นยิ่งกว่า และกลายเป็นเครื่องมือในการควบคุมตลาดน้ำมันที่มีค่ามากเกินไปที่มาสูญเสียไปได้ง่าย ๆ


การประชุมร่วมโอเปกกับน็อนโอเปกในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ จึงน่าจับตามองอย่างยิ่งว่า จะส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบโลกไปในทิศทางใด