
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
ในรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกล่าสุด ธนาคารโลกประเมินว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปีนี้ จะอยู่ที่ 6.1% และจะขยับเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยในปี 2025 เป็น 6.5%
ตัวเลขทั้งสองเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากการประเมินครั้งก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเมษายน โดยธนาคารโลกให้เหตุผลในการปรับเพิ่มขึ้นว่า เป็นเพราะการฟื้นตัวในภาคการผลิตเพื่อการส่งออก, ภาคการท่องเที่ยว และภาคการลงทุน เป็นสำคัญ
ทั้งยังเป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นชัดว่า แม้เศรษฐกิจของเวียดนามจะเผชิญกับปัญหาอยู่ไม่น้อยในเวลานี้ โดยเฉพาะในด้านการบริโภคภายในประเทศ และการพึ่งพาการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) มากจนเกินไป แต่เมื่อเปรียบเทียบกับบรรดาประเทศในอาเซียนด้วยกัน รวมทั้ง ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซียแล้ว เศรษฐกิจของเวียดนามยังคงขยายตัวได้ในสัดส่วนที่สูงที่สุด และแข็งแกร่งที่สุด
ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ส่งผลให้บรรดานักลงทุนตะวันตกพากันมองหาวิธีลดความเสี่ยงจากการลงทุนในจีนลง ตอนนั้นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ สำหรับช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวนี้
ยุทธศาสตร์ธุรกิจที่บริษัททั่วโลกนำมาใช้กันในเวลานั้นคือ “จีนบวกหนึ่ง” (China Plus One) หมายถึง การเลือกประเทศที่จะลงทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งประเทศ ในขณะที่ยังคงธุรกิจในจีนอยู่ ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงของห่วงโซ่การผลิตลง หากความขัดแย้งทำให้การดำเนินการในจีนต้องสะดุดลง ก็จะยังคงเหลือฐานการผลิตที่ยังคงทำหน้าที่แทนได้อยู่ในอีกประเทศนั่นเอง
เวียดนามกลายเป็นตัวเลือกสูงสุดและบ่อยครั้งที่สุดเพื่อการนี้ เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ใกล้กับจีน และมีความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะวัฒนธรรมทางการเมือง การปกครอง ที่อยู่ภายใต้พรรคเดียวเบ็ดเสร็จเหมือน ๆ กัน
สำหรับบริษัทธุรกิจที่เคยดำเนินการอยู่ในจีน การย้ายฐานมายังเวียดนามง่ายกว่าการย้ายไปประเทศอื่นมาก การดีลธุรกิจในเวียดนาม ง่ายกว่า คุ้นเคยกว่า การดีลงานในประเทศอย่างมาเลเซีย หรืออินโดนีเซียแน่นอน
ในเวลาเดียวกัน เวียดนามมีปัจจัยประกอบในประเทศได้เปรียบกว่าประเทศอื่น ๆ หลายอย่าง รวมทั้ง การมีตลาดแรงงานวัยหนุ่มสาวในขนาดใหญ่กว่าและค่าจ้างถูกกว่าอีกต่างหาก โดยที่ 58% ของประชากรรวมราว 100 ล้านคนของเวียดนาม มีอายุไม่ถึง 35 ปี กลายเป็นแรงดึงดูดที่น่าสนใจอย่างยิ่งในการลงทุน
ผลก็คือ เงินลงทุนพากันไหลมาเทมายังเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกิจการธุรกิจของชาติตะวันตก, สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น
จีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของเวียดนามก็จริง แต่สหรัฐอเมริกากลับมีบทบาทสูงยิ่งในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนาม ในฐานะคู่ค้าใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสอง แต่เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม
นอกจากนั้น การลงทุนมหาศาลจากสหรัฐอเมริกายังเป็นปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจเวียดนามมาจนถึงขณะนี้ ตัวอย่างเช่น แอปเปิล บริษัทที่ได้ชื่อว่ามีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ยึดถือเวียดนามเป็นแหล่งผลิตสำคัญของตนเอง และหอบเงินมาลงทุนที่นี่แล้วมากกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
นักวิเคราะห์พากันตั้งข้อสังเกตว่า แม้เวียดนามจะได้ชื่อว่ามีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดในอาเซียนก็ตาม แต่อุปสรรคและปัญหาท้าทายภายในประเทศก็มีอยู่ไม่น้อย
นักวิชาการของธนาคารโลก เชื่อว่า หากเวียดนามต้องการรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับนี้ให้ได้ต่อไปในระยะปานกลาง จำเป็นต้องมีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างภายในประเทศขึ้น
ความท้าทายสำคัญก็คือปัญหาคอร์รัปชั่น การปิดกั้นทางการเมือง สิทธิมนุษยชน และภาคประชาสังคม
ในขณะเดียวกัน กิจการธุรกิจในเวียดนามโดยเฉพาะกิจการขนาดเล็กและขนาดกลาง กลับไม่โต เพราะไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน เหมือนกับธุรกิจในภาคการผลิตที่ผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดระหว่างประเทศ ภาคธุรกิจพลังงานไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ ส่งผลให้เกิดไฟฟ้าดับบ่อยครั้ง
ราคาสินค้าจำเป็น โดยเฉพาะในกลุ่มอาหาร ถีบตัวสูงขึ้น สืบเนื่องจากการผลิตต้องเผชิญกับปัญหาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ทวีสูงขึ้นทุกที
ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ทั้งสิ้น