IMF แนะรัฐบาลจีนเพิ่มงบฯกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการที่ออกมายังไม่พอระงับเงินฝืด

สำนักงานใหญ่ IMF ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ภาพโดย REUTERS/Yuri Gripas
สำนักงานใหญ่ IMF ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ภาพโดย REUTERS/Yuri Gripas

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของไอเอ็มเอฟ (IMF) คอมเมนต์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนยังไม่เพียงพอ ชี้รัฐบาลกลางจำเป็นต้องเพิ่มการใช้จ่าย เพื่อแก้วิกฤตอสังหาฯและบรรเทาภาวะเงินฝืดเนื่องจากอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ 

วันที่ 25 ตุลาคม 2024 บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า กฤษณะ ศรีนิวาสัน (Krishna Srinivasan) ผู้อำนวยการแผนกเอเชีย-แปซิฟิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) หรือ IMF กล่าวว่า แม้ว่ามาตรการกระตุ้นต่าง ๆ ที่รัฐบาลจีนออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้อาจช่วยให้ IMF คาดการณ์ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้ที่ 4.8% แต่มาตรการที่ออกมานั้นก็ยังไม่เพียงพอ รัฐบาลกลางของจีนยังจำเป็นต้องใช้จ่ายมากกว่านี้ เพื่อแก้วิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ และบรรเทาภาวะเงินฝืด 

กฤษณะ ศรีนิวาสัน กล่าวกับบลูมเบิร์กในวันที่ 24 ตุลาคมว่า IMF เชื่อว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ประกาศออกมายังไม่เพียงพอ เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศจีนยังคงอ่อนแออย่างมาก ซึ่งรัฐบาลกลางของจีนต้องทำให้แน่ใจว่าบ้านที่มีลูกค้าจองไว้ก่อนเปิดตัวโครงการ (Presales) จะสร้างเสร็จหมดทุกหลัง และปัญหาอีกประการหนึ่งที่ต้องแก้ไขคือ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่สูญเสียความสามารถในการดำเนินงานและต้องยื่นล้มละลาย 

ทั้งยังเสริมต่ออีกว่า รัฐบาลกลางจีนควรใช้งบประมาณราว 5% ของจีดีพีเพื่อรักษาเสถียรภาพของภาคอสังหาริมทรัพย์ หรือคิดเป็น 6.3 ล้านล้านหยวน (ราว 29 ล้านล้านบาท) จากการคำนวณของบลูมเบิร์กโดยอิงตัวเลขจีดีพีปี 2023 ทั้งนี้ แม้ว่ากฤษณะ ศรีนิวาสันจะไม่ได้กล่าวถึงกรอบระยะเวลา แต่ก่อนหน้านี้ IMF ได้ให้ข้อแนะนำว่าอาจขยายการใช้จ่ายไปถึง 4 ปี

นักลงทุนและนักเศรษฐศาสตร์ต่างเฝ้ารอรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนการช่วยเหลือเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของจีน เมื่อต้นเดือนตุลาคม หลาน โฝอัน (Lan Fo’an) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของจีนรับปากว่าจะมีมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยอนุญาตให้รัฐบาลท้องถิ่นออกพันธบัตรพิเศษเพื่อนำเงินไปซื้อที่อยู่อาศัยที่ขายไม่ออก ทว่าไม่ได้ระบุตัวเลขขนาดของการดำเนินงานที่ชัดเจน และก่อนหน้านั้น ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย และลดเกณฑ์ขั้นต่ำเงินดาวน์สำหรับการซื้อบ้านหลังที่สองลง  

ธนาคารกลางประชาชนจีนคาดว่า จากมาตรการดังกล่าวจะสามารถช่วยครัวเรือนกว่า 50 ล้านครัวเรือนประหยัดได้ถึง 150,000 ล้านหยวน (ราว 7 แสนล้านบาท) 

ADVERTISMENT

วิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นมา 3-4 ปี กวาดล้างความมั่งคั่งออกไปจากครัวเรือนจีนกว่า 18 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 608 ล้านล้านบาท) ทำให้จีนเข้าสู่ภาวะเงินฝืดยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 1999 และจากข้อมูลการเติบโตทางเศรษฐกิจของไตรมาส 3 ปี 2024 ที่ออกมาล่าสุด พบว่าจีนมีอัตราการเติบโตต่ำสุดในรอบ 6 ไตรมาส 

เมื่อถูกถามว่าอีกนานเท่าไร GDP Deflator หรือดัชนีราคาสินค้าทุกชนิดที่รวมในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของจีนจะกลับมาเป็นบวก กฤษณะ ศรีนิวาสันกล่าวว่า ต้องรอเวลา ขึ้นอยู่กับว่าจีนจะแก้ปัญหาอุปสงค์ภายในประเทศซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานที่สำคัญที่สุดอย่างไร