วิกฤตที่ “โบอิ้ง” สาหัสเกินเยียวยา !?

BOEING
SEATTLE, WASHINGTON - OCTOBER 24: Boeing workers gather on a picket line near the entrance to a Boeing facility on October 24, 2024 in Seattle, Washington. Yesterday, members of the International Association of Machinists and Aerospace Workers District 751 voted to reject Boeing's latest contract offer. David Ryder/Getty Images/AFP (Photo by David Ryder / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / Getty Images via AFP)
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวในแวดวงธุรกิจการบินย่อมตระหนักดีว่า “โบอิ้ง” ยักษ์ใหญ่ของวงการที่ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างสรรค์การบินสมัยใหม่ขึ้นมาให้กับโลก กำลังประสบปัญหา เพียงแต่มีน้อยคนมากที่รู้ว่า ปัญหาของโบอิ้งอยู่ตรงไหนและยิ่งน้อยลงไปอีกมากถึงจะรู้ว่า ปัญหาเหล่านั้นจำเป็นต้องแก้ไขอย่างไร

“คาร์สเตน สปอห์ร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของลุฟท์ฮันซายอมรับว่า ตลอดเวลานานกว่า 30 ปีที่อยู่มาในอุตสาหกรรมการบิน ไม่เคยพบเห็นอะไรที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับโบอิ้งมาก่อน

รอน เอปสตีน นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมการบินของแบงค์ออฟอเมริกา อุปมา โบอิ้ง เหมือนกับ “ไฮดรา” สัตว์ประหลาดหลายหัวในเทพนิยายกรีก ปัญหาของโบอิ้งก็เหมือนกับหัวของไฮดราเกิดขึ้นจาก “เนื้อใน” ตัวเอง และยิ่งตัดก็ยิ่งงอกโผล่ออกมาใหม่ไม่มีที่สิ้นสุด

กระนั้น ปัญหาของโบอิ้งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเพราะผูกโยงอยู่กับอนาคตของการบินพาณิชย์ทั้งโลก เนื่องจากเครื่องบินโดยสารแทบทั้งหมดในโลกนี้ ถ้าไม่ผลิตโดยโบอิ้งก็เป็นผลผลิตของคู่แข่งสำคัญอีกเพียงรายเดียวอย่างแอร์บัสเท่านั้น

5 ปีที่โบอิ้งตกอยู่ในภาวะวิกฤต แอร์บัสก็เผชิญกับปัญหาใช้ศักยภาพในการผลิตสูงจนถึงขีดจำกัดแล้ว กว่าจะสามารถรับออร์เดอร์ใหม่จากลูกค้าได้ “อย่างมีนัยสำคัญ” อีกครั้งก็ต้องรอถึงทศวรรษ 2030 โน่น

ความพยายามล่าสุดที่จะแก้ไขปัญหาที่โบอิ้งก็คือ การแต่งตั้งซีอีโอคนใหม่เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 3 เดือนก่อนหน้านี้ ผู้ที่ถูกเลือกคือ “เคลลี ออร์ทเบิร์ก” วิศวกรเครื่องกลชาวอเมริกันจากย่านมิดเวสต์ วัย 64 ปี ที่ระบุภารกิจของตนออกมาง่าย ๆ ว่า คือการนำโบอิ้งกลับเข้าที่เข้าทางที่ถูกต้อง เพื่อกลับคืนสู่สถานะผู้นำของอุตสาหกรรมอีกครั้ง

ADVERTISMENT

การอธิบายเป็นคำพูดแตกต่างอย่างใหญ่หลวงกับการปฏิบัติจริง ที่เห็นกันชัด ๆ ก็คือ การเผชิญกับการนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานใหญ่ที่สุดของโบอิ้ง ที่ดำเนินต่อเนื่องมากว่า 6 สัปดาห์แล้ว และออร์ทเบิร์กยอมรับว่า จะแก้ปัญหาอื่นใดในโบอิ้ง ต้องแก้ปัญหาสไตรก์ที่ทำให้บริษัทเสียหายราววันละ 50 ล้านดอลลาร์นี้ให้ได้เสียก่อน

คำถามก็คือ เขาจะทำอย่างไรถึงจะโน้มน้าวให้แรงงานที่ส่วนหนึ่ง 33,000 คนกำลังหยุดงาน อีกส่วนหนึ่งราว 17,000 คนกำลังถูกตรวจสอบเพื่อการ “เลิกจ้าง” ตามแนวคิดลดต้นทุน ให้หันมาเข้าใจบริษัทและยุติการนัดหยุดงานประท้วงครั้งนี้

ADVERTISMENT

เขาต้องโน้มน้าวอย่างไร ถึงจะทำให้บรรดานักลงทุนทั้งหลายเชื่อและยอมสนับสนุนการขายหุ้นเพิ่มทุนในกิจการอย่างโบอิ้งที่ผลตอบแทนกว่าจะได้อาจต้องใช้เวลาหลายปี ต้องทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหาในระบบควบคุมคุณภาพการผลิตและระบบการผลิตโดยรวมได้ ต้องทำอย่างไรถึงจะเอาใจบรรดาลูกค้าที่ออร์เดอร์มาแล้ว และผิดหวังนับครั้งไม่ถ้วนจนจำเป็นต้องปรับตารางเวลาของตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า กระทั่งถึงกับต้องปรับลดเที่ยวบิน เพราะโบอิ้งส่งมอบเครื่องบินตามออร์เดอร์ล่าช้า

นักวิเคราะห์บางคนระบุว่า ถ้า “เคลลี ออร์ทเบิร์ก” แก้ปัญหาของโบอิ้งได้ เขาก็ไม่ต่างอะไรจากวีรบุรุษ แต่ปัญหาของโบอิ้ง ไม่เพียงมากมายเท่านั้น ยังถมทับกันซับซ้อนด้วยอีกต่างหาก

สาธารณชนได้รับรู้ปัญหาของโบอิ้งครั้งแรก เมื่อเดือนตุลาคมปี 2018 เมื่อโบอิ้ง 737 แม็กซ์ ที่คาดกันว่าจะเป็นรุ่น “ทำเงิน” เครื่องใหม่ของบริษัท ตกนอกชายฝั่งอินโดนีเซีย และอีก 5 เดือนต่อมา แม็กซ์ อีกลำก็ตกขณะบินขึ้นที่เอธิโอเปีย

เหตุการณ์ทั้งสองทำให้มีคนตายรวมกันถึง 346 คน โบอิ้ง 737 แม็กซ์ถูกสั่งห้ามบินนานเกือบ 2 ปีระหว่างการสืบสวนสอบสวน ซึ่งในที่สุดลงเอยด้วยการยอมรับผิดของโบอิ้งที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำการอันเป็นการ “ฉ้อฉล” เป็นเหตุให้ผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลเข้าใจไขว้เขวต่อการออกแบบของเครื่องบิน

วิกฤตโควิดส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินอย่างหนัก ไม่เพียงไม่มีออร์เดอร์ใหม่มาเท่านั้น คำสั่งซื้อเก่ายังถูกระงับหรือยกเลิก เพื่อฝ่าวิกฤตใหญ่ครั้งนี้ โบอิ้งก่อหนี้เพิ่มขึ้นถึงอย่างน้อย 25,000 ล้านดอลลาร์

แม็กซ์ได้รับอนุญาตให้กลับขึ้นบินได้อีกครั้งนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2020 แต่สิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นตามมาอีกจนได้ เมื่อประตูทั้งแผงของเครื่องบินโบอิ้งลำหนึ่งของ “อลาสกา แอร์ไลน์” หลุดร่วงลงมาจากระดับความสูง 16,000 ฟิต ส่งผลให้โบอิ้งถูกสอบสวนและตรวจสอบภายในครั้งใหญ่อีกครั้ง ซึ่งส่งผลให้พบข้อบกพร่องทั้งในระบบการผลิตและกระบวนการควบคุมคุณภาพเพื่อความปลอดภัย

ปัญหาของโบอิ้งเกิดขึ้นแม้แต่กับโครงการอวกาศที่ทำร่วมกับนาซา ยานอวกาศสตาร์ไลเนอร์ เกิดการรั่วไหลขึ้นภายในระบบขับเคลื่อน ส่งผลให้ต้องทิ้งค้างนักบินอวกาศ 2 คนไว้บนสถานีอวกาศนานาชาติข้ามปี

ในแง่ธุรกิจ โบอิ้งไม่เพียงสูญเสียเกียรติภูมิ ความน่าเชื่อถือไปมหาศาลเท่านั้น ยังสูญเสียทางการเงินอย่างหนัก สถานะทางการเงินสุทธิของบริษัท เป็นลบคือขาดทุนมาทุกปีนับตั้งแต่ปี 2019 รายงานล่าสุดประจำไตรมาส 3 ของปีนี้ โบอิ้งเปิดเผยว่าขาดทุนถึง 6,000 ล้านดอลลาร์ เป็นผลประกอบการรายไตรมาสที่เลวร้ายที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ของบริษัท

การมาของเคลลี ออร์ทเบิร์ก ทำให้ผู้คนในแวดวงใจชื้นขึ้นในระดับหนึ่ง เขาไม่เพียงคร่ำหวอดอยู่ในวงการมานานเท่านั้น ยังมีความสามารถสูง แถมมีพื้นฐานทางวิศวกรรม ที่ทำให้ต่างจากคนอื่น ๆ ที่ผ่านมา

นักวิเคราะห์เองเชื่อว่า ถ้าจะมีใครสักคนแก้ปัญหาของโบอิ้งได้ คนคนนั้นก็คือ ออร์ทเบิร์ก

ถ้าหากคนขนาดออร์ทเบิร์กยังแก้ไม่ได้ แสดงว่าโบอิ้งอยู่ในสถานะสาหัสเกินเยียวยาแล้วจริง ๆ