จีนตั้งการ์ดสูงรับมือ “ทรัมป์” เล็งอัด 10 ล้านล้านหยวนอุ้มเศรษฐกิจ

US-VOTE-POLITICS-TRUMP
Former US President and Republican presidential candidate Donald Trump leaves after a campaign rally in Rocky Mount, North Carolina, on October 30, 2024. (Photo by CHANDAN KHANNA / AFP)
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ เป็นประเด็นระดับโลกที่ทุกประเทศต้องจับตามอง ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ ระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ จากรีพับลิกัน และคามาลา แฮร์ริส จากเดโมแครต เพราะนโยบายของทั้งสองฝ่ายจะมีนัยยะและผลกระทบต่อหลายประเทศทั่วโลกในระดับแตกต่างกัน ในแง่มุมที่ต่างกัน

ดูเหมือนจีนเป็นประเทศที่ต้องตั้งการ์ดรับผลการเลือกตั้งสหรัฐมากกว่าใคร ในฐานะประเทศที่ถูกอเมริกามองด้วยความระแวง ทั้งด้านการค้าและความมั่นคง จนกระทั่งเปิดศึกการค้าและตอบโต้กันด้วยภาษีตลอดหลายปีที่ผ่านมา และด้วยแนวโน้มที่ดูเหมือนทรัมป์น่าจะเป็นฝ่ายกำชัยในการเลือกตั้งครั้งนี้ ยิ่งทำให้จีนต้องวางแผนรับมือเป็นพิเศษ เนื่องจากมีท่าทีแข็งกร้าวมากกว่าแฮร์ริส โดยเฉพาะการที่ทรัมป์ประกาศจะเก็บภาษีสินค้าจากจีน 60%

ตามรายงานของรอยเตอร์ซึ่งอ้างอิงแหล่งข่าวใกล้ชิดที่รู้เรื่องนี้ 2 คนระบุว่า การประชุมสภาประชาชนแห่งชาติของจีน (NPC) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-8 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นการจัดตารางประชุมใหม่ให้สอดคล้องกับการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐ คาดว่าจะมีการพิจารณาอนุมัติแพ็กเกจทางการคลังเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจมูลค่ามากกว่า 10 ล้านล้านหยวน (1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือคิดเป็นมากกว่า 8% ของจีดีพี โดยจะเป็นการก่อหนี้เพิ่มเป็นพิเศษ ผ่านการออกพันธบัตรกู้ยืมในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า และหากผลการเลือกตั้งออกมาว่าทรัมป์ชนะ คาดว่าวงเงินกระตุ้นจะมากกว่านี้

แผนกระตุ้นดังกล่าวบ่งชี้ว่ารัฐบาลจีนยอมเปลี่ยนใจไปใช้มาตรการกระตุ้นที่ใหญ่ขึ้น เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจ

ลูอิส คูมิส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอสแอนด์พีโกลบอลในฮ่องกงระบุว่า ถือว่าวงเงินค่อนข้างใหญ่ จะเพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุนและสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่การสนับสนุนด้านบริโภคยังค่อนข้างน้อย จึงไม่น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นมากนัก อีกทั้งไม่น่าจะขจัดความเสี่ยงที่จะเกิด “เงินฝืด” ได้

ก่อนหน้านี้ “แคปิตอล อีโคโนมิกส์” บริษัทให้บริการข้อมูลเศรษฐกิจเชิงลึกในลอนดอน ได้เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างนโยบายหลักของทรัมป์กับแฮร์ริสที่อาจจะกระทบต่อการเติบโตของจีนในประเด็นสำคัญดังนี้

Advertisment

กลยุทธ์ภาษีและผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

การที่ทรัมป์เสนอจะเก็บภาษีสินค้าจากจีน 60% จะทำให้จีดีพีจีนลดลง 0.5-0.7% จะเพิ่มแรงกดดันระยะสั้นต่อภาคการผลิตและการค้าจีน ขณะที่ในส่วนของแฮร์ริส มีแนวโน้มจะคงอัตราภาษีที่จะเก็บจากจีนไว้ระดับเดิม จะช่วยให้จีนสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะปรับเศรษฐกิจอย่างไร

การค้าและการควบคุมสินค้าเทคโนโลยี

ทรัมป์เป็นที่รู้จักดีว่าเขาพุ่งเป้าเล่นงานบริษัทจีนเฉพาะราย หากครั้งนี้เขากลับมาเป็นประธานาธิบดีอีก อาจจะนำมาตรการจำกัดการค้าบริษัทใหญ่ ๆ ของจีนกลับมาใช้อีก อย่างไรก็ตาม ความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของทรัมป์ เพิ่มโอกาสให้กับจีนมากขึ้นในการเจรจา อย่างที่ได้เห็นกันมาแล้วตอนที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก

Advertisment

แต่ในส่วนของแฮร์ริส มีแนวโน้มจะทำตามนโยบายเดิมของโจ ไบเดน นั่นก็คือจะควบคุมบริษัทเทคโนโลยีจีนเป็นวงกว้าง จึงจะกระทบต่อบริษัทเทคฯ จีนทั้งหมด และเมื่อเวลาผ่านไปอุปสรรคทางการค้าที่ดำรงอยู่ยาวนานอาจกระทบต่อความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีของจีน

ความเป็นหุ้นส่วนระดับโลกและอิทธิพลพหุภาคี

ทรัมป์ชื่นชอบความสัมพันธ์แบบฝ่ายเดียว (Unilateral) วิธีนี้อาจทำให้พันธมิตรสหรัฐอ่อนแอลง ทำให้ยากขึ้นที่จะรักษาความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างสหรัฐกับพันธมิตรในการกดดันจีน อันจะทำให้จีนมีช่องที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่แฮร์ริสมีแนวโน้มจะใช้วิธีการพหุภาคี ด้วยการรักษาความแข็งแกร่งกับพันธมิตรเอาไว้ และรวมพลังกับพันธมิตรเพื่อควบคุมการส่งออกและเทคโนโลยีของจีน อันจะทำให้เศรษฐกิจจีนถูกจำกัดมากขึ้น

ความสัมพันธ์การทูตและระเบียบเศรษฐกิจโลก

จุดยืนของทรัมป์ที่มีต่อสถาบันระดับโลกต่าง ๆ จะทำให้ระเบียบเศรษฐกิจโลกไม่มีเสถียรภาพ กระทบต่อการวางแผนระยะสั้นของจีน แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสที่จีนจะเพิ่มอิทธิพลของตัวเอง ส่วนแฮร์ริสจะสนับสนุนระบบพหุภาคีที่มีเสถียรภาพ ซึ่งจะจำกัดทางเลือกด้านเศรษฐกิจของจีน

เพราะประเทศต่าง ๆ จะเข้าด้วยกับสหรัฐมากขึ้นในด้านมาตรฐานเทคโนโลยีและการจำกัดการค้า