Prachachat BITE SIZE โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ
เมื่อพูดถึง เลือกตั้งสหรัฐ เชื่อว่าหลาย ๆ คนมักจะนึกถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่จะเกิดขึ้นในทุก ๆ 4 ปี และเป็นหนึ่งในอีเวนต์การเมืองโลกที่หลายประเทศจับตา เพราะไม่ใช่แค่เรื่องใครได้นั่งประธานาธิบดี แต่ยังไปถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่าง ๆ ในฐานะที่สหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ
แต่ถ้าลองขยายภาพใหญ่ออกมา การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เป็นหนึ่งจิ๊กซอว์การเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยของสหรัฐ
Prachachat BITE SIZE ชวนเรียนรู้เรื่องการเลือกตั้งสหรัฐ ตั้งแต่ระดับประเทศถึงระดับท้องถิ่น จนถึงเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ว่ามีขั้นตอนอะไรบ้าง
เลือกตั้งสหรัฐ มีมากกว่า “ประธานาธิบดี”
การเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา นอกจากตำแหน่ง “ประธานาธิบดี” ที่หลาย ๆ คนคุ้นเคย ยังมีตำแหน่งอื่น ๆ ที่มาจากการเลือกตั้ง คือ
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 435 คน มีการเลือกตั้งใหม่ทุก 2 ปี
- วุฒิสมาชิก 100 คน ดำรงตำแหน่ง 6 ปี แต่ทุก 2 ปี จะมีการเลือกตั้งใหม่ เป็นจำนวน 1 ใน 3 ของจำนวน 100 ที่นั่ง
การเลือกตั้ง สส. และวุฒิสมาชิกสหรัฐ ที่เกิดขึ้นทุก 2 ปี เรียกว่า “การเลือกตั้งกลางเทอม” ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อประธานาธิบดีสหรัฐ ตำรงตำแหน่งไปแล้วครึ่งวาระ หรือ 2 ปี และการเลือกตั้งกลางเทอม ก็สำคัญต่อรัฐบาลขณะนั้น เพราะเสียงในสภาจะเป็นตัวกำหนดว่าประธานาธิบดีจะสามารถผลักดันนโยบายที่หาเสียงไว้ได้มากน้อยแค่ไหน
ส่วนการเลือกตั้งระดับรัฐและท้องถิ่น จะมีผู้ว่าการรัฐ ดำรงตำแหน่ง 4 ปี ยกเว้นรัฐนิวแฮมป์เชียร์และเวอร์มอนต์ ดำรงตำแหน่ง 2 ปี หรือตำแหน่งในระดับท้องถิ่น เช่น นายกเทศมนตรี สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารเขตการศึกษา ผู้พิพากษา และตำแหน่งอื่น ๆ ในเขตปกครอง ซึ่งกำหนดการเลือกตั้งและระยะเวลาการดำรงตำแหน่งแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ
แล้วคุณสมบัติของผู้ลงคะแนนเสียง และผู้ชิงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง ทั้งประธานาธิบดี ทั้ง สส. ทั้งวุฒิสมาชิก ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง
ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง รัฐธรรมนูญสหรัฐ รับรองว่า พลเมืองสหรัฐ ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในการเลือกตั้งระดับรัฐบาลกลาง (ระดับประเทศ) ระดับรัฐ และระดับท้องถิ่น
สำหรับผู้ชิงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง มีรายละเอียดแตกต่างไป ดังนี้
- ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต้อง เป็นพลเมืองอเมริกันโดยกำเนิด มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี และมีถิ่นที่อยู่ในสหรัฐ โดยถูกต้องตามกฎหมายไม่ต่ำกว่า 14 ปี
- ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีก็ต้องมีคุณสมบัติเดียวกัน และจะต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาแล้ว 2 วาระ
- ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี เป็นพลเมืองสหรัฐ มาแล้ว 7 ปี และมีถิ่นที่อยู่ในรัฐที่ลงสมัครเป็นผู้แทนในสภาคองเกรส
- ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี เป็นพลเมืองสหรัฐ มาแล้ว 9 ปี และมีถิ่นที่อยู่ในรัฐที่ลงสมัครเป็นผู้แทน
เปิดกระบวนการ “เลือกตั้งประธานาธิบดี”
อย่างที่เกริ่นไว้ว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เป็นที่จับตามอง ทั้งตัวบุคคลและนโยบาย แต่กระบวนการกว่าจะได้ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ มีขั้นตอนที่เยอะและซับซ้อนมาก
หลังจากที่เตรียมการเพื่อส่งผู้สมัครชิงตำแหน่งแล้ว กระบวนการจะไล่ไปเป็นสเต็ป เริ่มจากการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อสรรหาตัวแทนพรรคที่จะส่งลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งขั้นตอนนี้เริ่มต้นขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ไปจนถึงเดือนมิถุนายน โดยต้องผ่านขั้นตอนการกำหนดจำนวนคณะผู้เลือกตั้งที่สนับสนุนผู้สมัครเป็นตัวแทนพรรคแต่ละคน
การกำหนดจำนวนดังกล่าวจะมาจาก 2 วิธี คือ การประชุมคอคัส (Caucus) และการเลือกตั้งขั้นต้น (Primary Vote)
ความแตกต่างของ 2 ระบบนี้ คือ การประชุมคอคัส สมาชิกพรรคเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ดีที่สุดจากการอภิปรายและออกคะแนนเสียงหลายครั้ง ส่วนการเลือกตั้งขั้นต้น สมาชิกพรรคออกเสียงเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ดีที่สุดเพื่อเป็นตัวแทนพรรคในการเลือกตั้งทั่วไป
แต่มีเพียง 12 รัฐ และ 3 เขตที่ใช้วิธีการประชุมคอคัส ขณะที่รัฐส่วนมากใช้การเลือกตั้งขั้นต้น เราจึงอาจจะรู้จักหรือคุ้นกับการเลือกตั้งขั้นต้นมากกว่า และเรียกขั้นตอนนี้รวม ๆ กันว่า “การเลือกตั้งขั้นต้น” (Primary Vote)
ผู้ที่จะได้เป็นตัวแทนพรรคลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีต้องได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งอย่างน้อย 2,162 คน จากจำนวนคณะผู้เลือกตั้งของแต่ละพรรครวมทั้งประเทศ 4,322 คน
เมื่อเลือกตั้งขั้นต้นเสร็จแล้ว คณะกรรมการแห่งชาติ (National Committee) ของแต่ละพรรค จะจัดการประชุมใหญ่ของพรรค (National Convention) เพื่อเลือกตัวแทนผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยคณะผู้เลือกตั้งหรือตัวแทนระดับรัฐที่ได้รับเลือกในการเลือกตั้งขั้นต้นจะให้การรับรองตัวแทนสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ตนเองชื่นชอบ
จากนั้น พรรคการเมืองจะออกประกาศอย่างเป็นทางการว่าเสนอชื่อใครเป็นตัวแทนพรรคลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และในระหว่างการประชุมใหญ่นั้น ตัวแทนผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจะประกาศชื่อผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี หรือคู่หูชิงตำแหน่ง
และหลังจากจบการประชุมใหญ่พรรคแล้ว ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของแต่ละพรรคจะลงพื้นที่หาเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ
เมื่อเลือกผู้ชิงตำแหน่งแล้ว หาเสียงเรียบร้อยแล้ว ก็เข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไป ที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศลงคะแนนเสียงเลือกผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี แต่การเลือกตั้งนี้ไม่ใช่การเลือกประธานาธิบดีโดยตรง เป็นการลงคะแนนเสียงให้คนกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกว่า “คณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี” (Electoral College) เพื่อให้พวกเขาไปเลือกประธานาธิบดีแทนผู้ลงคะแนน
ทั่วสหรัฐ จะมีผู้เลือกตั้งจำนวน 538 คน แต่ละรัฐมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งเท่ากับจำนวนผู้แทนของรัฐในรัฐสภา คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บวก 2 ตามจำนวนวุฒิสมาชิก หรือ สว. ที่ทุกรัฐมีรัฐละ 2 คน และกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มีคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีจำนวน 3 คน
หลังจากนั้น จะเข้าสู่กระบวนการที่ “คณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี” ออกเสียงเลือกประธานาธิบดี หรือ Electoral Vote ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม โดยผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีแต่ละคนจะลงคะแนนเสียง 1 เสียง แล้วผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งเกินกึ่งหนึ่ง (270 เสียง) จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี
จากนั้น ในวันที่ 20 มกราคม ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีที่ได้รับการเลือกตั้งจะสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง จึงถือว่าเสร็จสิ้นกระบวนการเลือกตั้งผู้นำของสหรัฐอเมริกา
อ่านเพิ่มเติม : สรุปขั้นตอนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ จากจุดเริ่มต้นจนถึงวันได้ผู้ครองทำเนียบขาว
เกร็ดความรู้ “Swing State-วันเลือกตั้ง”
เราได้เรียนรู้ภาพใหญ่ของการเลือกตั้งสหรัฐ เรียนรู้เรื่องกระบวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐไปแล้ว ยังมีเรื่องน่าสนใจอีกหลาย ๆ เรื่อง
เริ่มจากเรื่อง “Swing State” หรือบางสื่อจะเรียกว่า “Battleground State”
คำว่า สะวิงสเตต (Swing State) คือ คำที่อธิบายรัฐที่ผลการเลือกตั้งมักมีการเปลี่ยนแปลงไปมา ไม่ได้สนับสนุนพรรคใดพรรคหนึ่งอย่างชัดเจนเป็นประจำ จึงมีโอกาสเปลี่ยนขั้วไปมาระหว่างพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง และชี้ได้ยากว่าพรรคไหนจะชนะในรัฐนั้น
รัฐที่โดยทั่วไปจะเป็น Swing State คือ แอริโซนา ฟลอริดา มิชิแกน เพนซิลเวเนีย และวิสคอนซิน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนเห็นว่า นอกจากรัฐเหล่านี้แล้ว ยังมีนิวแฮมป์เชียร์ นอร์ทแคโรไลนา และรัฐอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง เป็นพื้นที่ Swing State ด้วยเช่นกัน
ส่วนปี 2024 มี 7 รัฐที่เป็นสะวิงสเตต หรือ Battleground States ได้แก่
- มิชิแกน – จำนวน Electoral Vote = 15
- เพนซิลเวเนีย – จำนวน Electoral Vote = 19
- วิสคอนซิน – จำนวน Electoral Vote = 10
- จอร์เจีย – จำนวน Electoral Vote = 16
- นอร์ทแคโรไลนา – จำนวน Electoral Vote = 16
- เนวาดา – จำนวน Electoral Vote = 6
- แอริโซนา – จำนวน Electoral Vote = 11
จากข้อมูลของรอยเตอร์ ระบุว่า 7 รัฐสะวิงสเตตมีประชากรรวมกัน 61 ล้านคน จีดีพีรวมกันในปี 2023 มูลค่า 4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 150 ล้านล้านบาท
อีกหนึ่งเรื่องน่าสนใจ คือ วันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ทำไมถึงต้องเป็นวันอังคารหลังวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายน
ในอดีตสหรัฐเป็นสังคมเกษตรกรรม การเลือกตั้งจึงต้องจัดในช่วงที่เกษตรกรว่างเว้นจากงาน ซึ่งพบว่า ต้นเดือนพฤศจิกายน เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุด
ส่วนวันอังคารถูกเลือกเป็นวันเลือกตั้ง เพราะวันอาทิตย์เป็นวันไปโบสถ์ วันจันทร์และวันพุธเป็นวันที่เดินทางหรือทำการค้า วันอังคารจึงสะดวกที่สุด และกำหนดให้เป็นวันอังคารหลังวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายน เพื่อไม่ให้ตรงกับวันที่ 1 ซึ่งตรงกับเทศกาลศาสนาและวันปิดบัญชีการค้า
แต่ยุคปัจจุบัน การกำหนดวันอังคารเป็นวันเลือกตั้ง คนทำงานส่วนใหญ่ไม่สามารถหยุดวันอังคารได้ ความสะดวกในอดีตกลายเป็นอุปสรรค
แม้ปัจจุบัน มีการเปิดลงคะแนนล่วงหน้าและการลงคะแนนทางไปรษณีย์ ซึ่งช่วยให้การเลือกตั้งสะดวกขึ้น ยืดหยุ่นขึ้น แต่มีหลายข้อเสนอเกิดขึ้นในการกำหนดวันเลือกตั้ง ทั้งเปลี่ยนวันเลือกตั้ง เพิ่มวันเลือกตั้ง หรือกำหนดให้วันอังคารเป็นวันหยุด แต่ยังไม่ได้บังคับใช้
อ่านเพิ่มเติม : ทำไมสหรัฐกำหนดวันเลือกตั้งตายตัว อังคารหลังจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายน
ติดตาม Prachachat BITE SIZE EP.79 ได้ที่ https://youtu.be/vKDLXPD4CZ0
เข้าใจง่าย ได้ความรู้ ทุกสถานการณ์ข่าว กับ “Prachachat BITE SIZE” ทุกวันเสาร์ 11.00 น. ทุกช่องทางออนไลน์ของประชาชาติธุรกิจ