วอร์เรน บัฟเฟตต์ขายหุ้น Apple ไปแล้ว 60% ของพอร์ต ในปี 2024 

วอร์เรน บัฟเฟต์ ระหว่างงานประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2019 ภาพโดย Johannes EISELE / AFP
วอร์เรน บัฟเฟต์ ระหว่างงานประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2019 ภาพโดย Johannes EISELE / AFP

วอร์เรน บัฟเฟตต์ ทยอยขายหุ้นแอปเปิล (Apple) 60% ของพอร์ตตลอดปี 2024 ซึ่งสร้างคำถามให้แก่ตลาด ว่าเพราะเหตุใดและเป็นสัญญาณถึงอะไร ก่อนนี้บัฟเฟตต์เคยให้เหตุผลไว้ว่าเป็นเพราะผลกระทบด้านภาษี แต่นักลงทุนบางส่วนมองว่าเป็นเพราะบัฟเฟตต์ไม่โปรดปรานหุ้นในภาคเทคโนโลยีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า ตลอดปี 2024 บริษัท เบิร์กเชียร์ แฮทาเวย์ (Berkshire Hathaway) ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ทยอยขายหุ้นแอปเปิล (Apple inc.) อย่างต่อเนื่อง โดยลดหุ้นแอปเปิลในพอร์ตลงอีก 25% ในไตรมาส 3 หลังจากที่เคยหั่นลดลง 50% ในไตรมาส 2 ซึ่งวอร์เรนเคยกล่าวในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีเมื่อเดือนพฤษภาคมว่า การขายหุ้นแอปเปิลในไตรมาสแรกส่วนหนึ่งมาจากเหตุผลด้านภาษี และเบิร์กเชียร์จะยังคงลงทุนหุ้นแอปเปิลในสัดส่วนใหญ่อยู่ต่อไป โดยหุ้นแอปเปิลมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 10.6% ระหว่างไตรมาส 3 

การถือครองหุ้นแอปเปิลของเบิร์กเชียร์ แฮทาเวย์ ณ สิ้นไตรมาส 3 มีมูลค่า 69,900 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.3 ล้านล้านบาท) ลดลงราว 60% เทียบกับมูลค่า 174,300 ล้านดอลลาร์ (ราว 5.8 ล้านล้านบาท) เมื่อสิ้นปี 2023 ซึ่งบัฟเฟต์ไม่ได้เปิดเผยทรรศนะของเขาเกี่ยวกับแอปเปิลอีกเลยนับจากเดือนพฤษภาคม 

แอปเปิลเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น ยอดขายสินค้าเด่นอย่างไอโฟน กลับขาดการเติบโตอย่างมีความหมาย เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แอปเปิลบอกคาดการณ์กับนักลงทุนว่า คาดว่ายอดขายช่วงเดือนธันวาคมจะมีการเติบโตต่ำจนถึงปานกลางในตัวเลขหลักหน่วย ซึ่งต่ำกว่าประมาณการสำหรับช่วงที่มีเทศกาลสำคัญ 

แอปเปิลมียอดขายลดลงในจีน ขณะที่ผู้แข่งขันภายในจีนสามารถชิงพื้นที่ส่วนแบ่งมาได้ ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลทั้งสหรัฐและจีนต่างเพิ่มการตรวจสอบต่อข้อกังวลด้านการผูกขาดและการแข่งขันทางการค้า ที่สำคัญแอปเปิลกำลังตามหลังคู่แข่งเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ แม้ว่าจะมีการเปิดตัวฟีเจอร์ด้านเอไอแล้วเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม แต่ยังต้องรอจนถึงเดือนธันวาคมจึงจะสามารถใช้งานฟีเจอร์ต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน

จิม ชานาฮาน (Jim Shanahan) นักวิเคราะห์จากเอ็ดเวิร์ด โจนส์ (Edward Jones) กล่าวว่า ตัววอร์เรน บัฟเฟต์เองไม่ค่อยชอบหุ้นเทคโนโลยีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว บางทีอาจเป็นเพราะว่าชาร์ลี มังเกอร์ (Charlie Munger) คู่หูธุรกิจเก่าแก่ของบัฟเฟต์ มีความสบายใจต่อหุ้นเทคโนโลยีมากกว่า ซึ่งการทยอยขายหุ้นแอปเปิลเกิดขึ้นหลังจากที่ชาร์ลี มังเกอร์ เสียชีวิตลงในเดือนธันวาคม 2023 

ADVERTISMENT

ขณะที่แคธี่ ซีเฟิร์ต (Cathy Seifert) นักวิเคราะห์การวิจัยจากศูนย์วิเคราะห์และวิจัยทางการเงิน (CFRA) มองว่าการทยอยขายหุ้นแอปเปิลอาจเป็นเพียงการปรับสมดุลของพอร์ตการลงทุน เนื่องจากว่าเบิร์กเชียร์ แฮทาเวย์เริ่มมีการถือครองแอปเปิลในสัดส่วนที่มากเกินไป และเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะลดสัดส่วนการถือครองลงมา

นอกจากนี้ เบิร์กเชียร์ แฮทาเวย์ยังถือครองเงินสดเป็นปริมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีเงินสดอยู่ 325,200 ล้านดอลลาร์ (ราว 10 ล้านล้านบาท) เมื่อสิ้นสุดไตรมาสสาม อย่างไรก็ตาม บัฟเฟตต์กล่าวในการประชุมประจำปีว่า ไม่มีความเร่งร้อนที่จะต้องใช้เงินแต่อย่างใด เว้นแต่จะพบช่องทางที่สามารถสร้างรายได้ก้อนโตด้วยความเสี่ยงเพียงเล็กน้อย

ADVERTISMENT