คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
สหรัฐอเมริกา ในฐานะมหาอำนาจของโลกในทุก ๆ ด้าน กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญขึ้นหลังปรากฏผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี ในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ หลังจากที่ความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งทำให้ทิศทางในอนาคตของเศรษฐกิจเหมือนตกอยู่ในท่ามกลางหมอกหนา ไม่รู้ว่าจะมีรูปร่างอย่างไร หรือจะดุ่มเดินออกไปในทิศทางไหนกันแน่ มานานหลายเดือนเต็มที
ความไม่แน่นอน คลุมเครือดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นจากสถานการณ์การเลือกตั้งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้แน่ชัดว่า ระหว่าง อดีตประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ตัวแทนพรรครีพับลิกัน กับรองประธานาธิบดี “คามาลา แฮร์ริส” ใครกันแน่ คือ ผู้ชนะการเลือกตั้งในที่สุด
ผลสำรวจความคิดเห็นหรือการทำโพลที่ผ่านมา แม้จะปรากฏการเหลื่อมล้ำอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่ชัดเจนถึงขนาดทำให้ผู้สันทัดกรณีฟันธงชี้ขาดได้
ผลก็คือทำให้เศรษฐกิจอเมริกันตกอยู่ในสภาพเหมือนเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เพราะนโยบายเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายแตกต่างกันอย่างใหญ่หลวง ส่งผลกระทบแตกต่างออกไปทั้งในเรื่องภาษีและภาวะเงินเฟ้อ แวดวงธุรกิจจำเป็นต้องชะลอหรือชะงักการลงทุน ผู้บริโภคก็กระวนกระวาย หันมาเก็บเงินไว้กับตัว
ที่สำคัญก็คือ ไม่เพียงอเมริกันเท่านั้นที่เลือกใช้วิธีการ “เฝ้าจับตารอคอย” ความชัดเจนนี้เท่านั้น ทั่วโลกก็ยังเป็นไปในทำนองนี้เช่นกัน
ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่จะได้รับรู้กันในไม่ช้าจะเป็นตัวกำหนดทิศทางเศรษฐกิจของประเทศในอีกหลายปีข้างหน้า จึงไม่น่าแปลกใจที่เกิดการหยุดชะงัก หรือชะลอ หรือแม้กระทั่งยกเลิกแผนการลงทุนเพื่อขยายกิจการ หรือแม้แต่กระทั่งการตัดสินใจซื้อบ้านของคนอเมริกันทั่วไป
วัดจากคำปราศรัยและการประกาศนโยบายขณะหาเสียง ทรัมป์เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันและรุนแรงในหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่การประกาศชัดเจนถึงการเนรเทศผู้อพยพขนานใหญ่ ไปถึงการใช้กำแพงภาษีโดยครอบคลุมเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ
ในขณะที่นโยบายของแฮร์ริส เลือกใช้แนวทางแก้ปัญหาที่ระมัดระวังและค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า เลือกใช้วิธีบรรเทา มากกว่าที่จะแก้ไขแบบ “คว่ำกระดาน” ตัวอย่าง เช่น การเสนอการยืดมาตรการการคืนภาษีสำหรับผู้มีบุตร หรือการเพิ่มส่วนลดทางภาษีเพื่อลดต้นทุนของสตาร์ตอัพ เป็นต้น
ทั้งทรัมป์ และแฮร์ริส ต่างก็อ้างว่า แนวทางของตนจะส่งผลดีต่ออเมริกันทุกคนในที่สุด กระนั้นบรรดานักเศรษฐศาสตร์เองกลับโน้มเอียงให้การสนับสนุนแนวทางที่แฮร์ริสเลือกใช้มากกว่า
หนังสือพิมพ์ วอลล์สตรีต เจอร์นัล เคยสำรวจความคิดเห็นของนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เอาไว้ ปรากฏว่า ราว 2 ใน 3 คือ 68% เห็นว่า แนวทางของทรัมป์ จะก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นเร็วกว่าแนวทางของแฮร์ริส
ด้วยเหตุที่ว่า หัวใจหลักของนโยบายทางเศรษฐกิจของทรัมป์ คือการตั้งกำแพงภาษี ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าของบริษัทอเมริกันสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะเป็นผู้จ่ายภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นตัวจริง ไม่ใช่บริษัทต่างชาติที่ส่งสินค้ามาขายในสหรัฐอเมริกาอย่างที่ทรัมป์กล่าวอ้าง
ผลสำรวจของสำนักงานเฟดประจำภูมิภาค ที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยดุค แสดงให้เห็นว่า บริษัทธุรกิจตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ เกือบ 1 ใน 3 ระบุว่า ตัดสินใจระงับการลงทุนออกไปไม่ในรูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง โดยอาจเป็นการ “เลื่อนการลงทุนออกไป” หรือ “ลดขนาด” หรือ “ชะลอออกไปไม่มีกำหนด” รวมทั้งการ “ยกเลิก” การลงทุนไปเลยก็มี
บรรดาผู้บริโภคเองก็ลังเลที่จะตัดสินใจในการซื้อสำคัญ ๆ ออกไป อย่างเช่น การซื้อบ้าน หรือรถ เป็นต้น
นอกเหนือจากความชัดเจนในแนวทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นด้วยผลการเลือกตั้ง ทั่วโลกยังจับตารอดูอยู่เช่นกันว่า “เฟด” หรือ ธนาคารกลาง จะตัดสินใจอย่างไรเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย
“เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟด จะสร้างความชัดเจนในเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นได้ในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ ว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐอเมริกาลงอีกหรือไม่ หลังจากประกาศลดครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี ไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ทั่วโลกคาดการณ์ว่า เฟดจะตัดสินใจลดดอกเบี้ยต่อในครั้งนี้อีกครั้ง และคาดหวังว่าทิศทางดอกเบี้ยอเมริกันจะเป็น “ขาลง” โดยไม่ได้รับผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ จากผลการเลือกตั้งที่รับรู้กันก่อนหน้านั้น