“หนี้สาธารณะ” ความท้าทายขนาดใหญ่ที่ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐไม่ค่อยพูดถึง

หนี้สาธารณะ สหรัฐ

“เศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งกว่าที่คาด” เป็นพาดหัวข่าวที่เห็นมาตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา นี่อาจจะเป็นข่าวดีสำหรับรัฐบาลโจ ไบเดน ที่บริหารประเทศมาก่อนหน้านี้ แต่สำหรับประธานาธิบดีคนใหม่ นี่เป็น “ความท้าทาย” เพราะการเข้ามาบริหารในสภาวะแวดล้อมที่ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจน้อยลงแล้ว หากไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจดีไปกว่านี้ได้ ก็จะทำให้เสียความนิยมไปง่าย ๆ

ที่สำคัญ “หนี้สาธารณะ” ของสหรัฐกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็น “ความท้าทาย” ขนาดใหญ่สำหรับผู้นำสหรัฐคนต่อไป

ปัจจุบันหนี้สาธารณะของสหรัฐอยู่ที่ 35.95 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 99% ของจีดีพี และสำนักงานงบประมาณรัฐสภา  (Congressional Budget Office: CBO) ของสหรัฐคาดว่า หนี้สาธารณะจะสูงกว่า 51 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2034 และอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 122% ซึ่งสูงกว่าช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

มูลนิธิปีเตอร์ จี. ปีเตอร์สัน (Peter G. Peterson Foundation) วิเคราะห์ว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้หนี้สาธารณะของสหรัฐสูงขึ้นนั้นเป็นปัจจัยเชิงโครงสร้าง คือ คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์อายุเพิ่มขึ้นและอายุยืนขึ้น ต้องการค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลสูงขึ้น และระบบภาษีที่ไม่สามารถเก็บรายได้เข้ารัฐได้มากพอที่จะครอบคลุมรายจ่ายที่รัฐบาลให้คำมั่นสัญญาไว้

“ในอนาคตผู้นำของอเมริกาจะต้องจัดการกับหนี้ที่พุ่งสูงขึ้นและปัจจัยเชิงโครงสร้าง” มูลนิธิปีเตอร์ จี. ปีเตอร์สันระบุ

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ในช่วงการเสนอนโยบายและหาเสียงที่ผ่านมา ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐทั้งสองคนไม่ค่อยพูดถึงและดูเหมือนไม่กังวลกับประเด็นหนี้สาธารณะเท่าไรนัก อาจจะเพราะหนี้สาธารณะเป็นเรื่องระยะยาวและไกลตัวประชาชนกว่าเรื่องภาษีและนโยบายสร้างรายได้ต่าง ๆ

ADVERTISMENT

ทั้งโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) และคามาลา แฮร์ริส (Kamala Harris) ต่างเสนอนโยบายที่จะเพิ่มการขาดดุลงบประมาณอีกมหาศาล

ตามการวิเคราะห์ขององค์กรคลังสมอง “แท็กซ์ โพลิซี เซ็นเตอร์” (Tax Policy Center) แผนงานของแฮร์ริสจะทำให้สหรัฐขาดดุลเพิ่มขึ้น 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ ในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ ขณะที่แผนงานของทรัมป์จะทำให้การขาดดุลเพิ่มขึ้น 2 ล้านล้านถึง 3.1 ล้านล้านดอลลาร์

ADVERTISMENT

ส่วนแบบจำลองงบประมาณที่จัดทำโดย “วอร์ตันสคูล” (Wharton School) มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ซึ่งยังไม่ได้คำนวณรวมคำมั่นสัญญาการหาเสียงครั้งหลัง ๆ ของทั้งสองคน คาดว่าภายใต้การบริหารของทรัมป์ สหรัฐจะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น 4.1 ล้านล้านดอลลาร์ และภายใต้การบริหารของแฮร์ริสจะขาดดุลเพิ่มขึ้น 2 ล้านล้านดอลลาร์

แม้ว่าสหรัฐมีข้อได้เปรียบในเรื่องการบริหารหนี้ เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐมีสถานะเป็นสกุลเงินสำรองหลักของโลก และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเป็นที่ต้องการของตลาดเสมอ สหรัฐสามารถออกพันธบัตรเพื่อรีไฟแนนซ์หนี้ใหม่ได้ตลอดเวลา แต่การมีหนี้สูงมากก็ส่งผลกระทบต่อตลาด

แต่นักเศรษฐศาสตร์บอกว่าต้องมีขีดจำกัด และนักเศรษฐศาสตร์ก็กำลังถกเถียงกันว่า เศรษฐกิจสหรัฐสามารถก่อหนี้ได้ถึงระดับไหน หนี้มากแค่ไหนที่จะกลายเป็นปัญหาร้ายแรงสำหรับสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาหนี้จะแลกมาด้วยความเจ็บปวดอย่างเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลจำเป็นต้องลดการใช้จ่ายที่ใช้ในการดูแลประชาชนและต้องเก็บภาษีสูงขึ้น ยิ่งปล่อยทิ้งไว้นานเท่าไร การแก้ไขปัญหาก็จะยิ่งเลวร้ายมากขึ้นเท่านั้น ตามคำเตือนของ IMF เมื่อเร็ว ๆ นี้