ทบทวนนโยบายเด่น 5 ด้านของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไป

โดนัลด์ ทรัมป์ และภริยา
โดนัลด์ ทรัมป์ และภริยา (ภาพโดย Brian Snyder/REUTERS – มีการแต่งสีโดยประชาชาติธุรกิจ)

ทั่วโลกได้ทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 47 กันแล้วในช่วงบ่าย ๆ ของวันที่ 6 พฤศจิกายน 2024 (ตามเวลาไทย) ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐจากพรรครีพับลิกัน ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 47 

ในวันที่โลกกำลังอยู่ภายใต้อิทธิพลของ โดนัลด์ ทรัมป์ “ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทบทวนนโยบายสำคัญ 5 ด้าน ของเขาอีกครั้ง  

การค้าและภาษีนำเข้า 

โดนัล ทรัมป์ มีนโยบายกดดันการค้าระหว่างประเทศกับจีนที่เข้มข้นมากขึ้นต่อเนื่องจากสมัยที่เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 โดยเสนอให้สหรัฐเพิ่มกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นอัตรา 60% 

นอกจากนี้ ทรัมป์เสนอให้ถอดถอนสถานะการค้าปกติ (Permanent Normal Trade Relations หรือ PNTR) กับจีน ซึ่งสถานะดังกล่าวเป็นประโยชน์สำหรับจีนในฐานะสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) อย่างไรก็ตาม การพิจารณาถอดถอนดังกล่าวจะต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรสเนื่องจากจะส่งผลกระทบต่ออัตราภาษีนำเข้าสินค้าเป็นการถาวร

ส่วนนโยบายการค้ากับประเทศอื่น ๆ ทรัมป์เสนอเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศอื่นในอัตรา 10% ถึง 20% ทั้งยังสนับสนุนให้การค้าระหว่างประเทศเป็นระบบต่างตอบแทน (Reciprocity) โดยให้ใช้อัตราภาษีระดับเดียวกันกับที่ประเทศคู่ค้าเรียกเก็บจากสินค้าส่งออกของสหรัฐ 

พลังงานและสิ่งแวดล้อม   

โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นคนไม่รักโลกเท่าไรนัก หากยังพอจำกันได้ เขาคือคนที่ลงนามให้สหรัฐถอนตัวออกจาก “ความตกลงปารีส” (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

Advertisment

ทรัมป์เชื่อว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องหลอกลวง ในการกลับมาชิงตำแหน่งครั้งนี้ เขาเสนอให้ยกเลิกการให้ภาษีส่วนลดสำหรับการซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และยกเลิกรัฐบัญญัติลดอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act : IRA) ที่ให้การสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เช่น โรงงานไฟฟ้าจากพลังงานลม โรงงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงงานผลิตแบตเตอรี (สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า) 

นอกจากนั้น ทรัมป์ยังเสนอยกเลิกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการใช้ถ่านหินในโรงงานผลิตพลังงาน การปล่อยก๊าซของเสียรถยนต์ และการปล่อยก๊าซมีเทนในอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียม 

Advertisment

ความสัมพันธ์กับจีน

ทรัมป์ดำเนินนโยบายแข็งกร้าวต่อจีนทั้งด้านการค้าและการทหาร โดยเสนอเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตราสูง เพื่อลดการขาดดุลการค้าจีน 

นอกจากนี้ เขายังมีแผนที่จะแต่งตั้ง โรเบิร์ต ไลต์ไฮเซอร์ (Robert Lighthizer) ซึ่งมีแนวนโยบายในการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีน ระงับการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ และห้ามใช้แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์จีน ให้กลับมาดำรงตำแหน่งผู้แทนการค้าสหรัฐ 

มีอิทธิพลเหนือธนาคารกลาง (เฟด) 

โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินนโนบายการเงิน โดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐ และเห็นว่ามีมาตรการอื่นที่สามารถเลือกใช้เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อในตลาดได้ และเขาพยายามจะเพิ่มอำนาจของประธานาธิบดีให้มีอำนาจเหนือธนาคารกลาง 

แม้ว่าประธานาธิบดีสหรัฐจะไม่มีอำนาจควบคุมการตัดสินใจด้านนโยบายของเฟดโดยตรง แต่ประธานาธิบดีก็สามารถใช้อิทธิพลโดยอ้อมได้ อย่างเช่น กดดันผ่านคำแถลงต่อสาธารณะ หรือคำวิพากษ์วิจารณ์ครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างที่เขาเคยทำเมื่อตอนเป็นประธานาธิบดีสมัยแรก 

ทั้งนี้ สถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (Peterson Institute for International Economics : PIIE) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจชื่อดังในสหรัฐวิเคราะห์ว่า หากทรัมป์พยายามมีอำนาจเหนือหรือพยายามแทรกแซงการตัดสินใจของธนาคารกลางจริง จะส่งผลระทบต่อตลาดทุนสหรัฐ เพราะนักลงทุนจะตอบสนองต่อการสูญเสียอิสระของธนาคารกลางโดยโยกเงินลงทุนออกจากตลาดเป็นจำนวนมาก 

ภาษีธุรกิจ

ทรัมป์มีนโยบายปรับลดอัตราภาษีธุรกิจลงไปอยู่ที่ 15% ถึง 20% จากปัจจุบันเก็บอยู่ที่อัตรา 21% ซึ่งเป็นอัตราที่ปรับลดลงมาจาก 34% ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก 

อย่างไรก็ตาม นโยบายลดภาษีธุรกิจของทรัมป์ซึ่งจะทำให้รัฐเสียรายได้ก็สอดคล้องกับนโยบายการตัดลดการใช้จ่ายภาครัฐลงด้วย โดยเฉพาะการใช้จ่ายตามรัฐบัญญัติ IRA ซึ่งทรัมป์บอกว่าจะยกเลิก 

อ้างอิง :