หลังฉากความขัดแย้งจีน-ยุโรป สองฝ่าย “แตะมือ” ค้าขายกันต่อ

conflic
The photo taken on January 10, 2024 shows electric cars for export waiting to be loaded on the "BYD Explorer NO.1", a domestically manufactured vessel intended to export Chinese automobiles, at Yantai port, in eastern China's Shandong province. (Photo by AFP) / China OUT / CHINA OUT
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

ภายหลังจากคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศจัดเก็บภาษีรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนในอัตราสูงถึง 45.3% โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากใช้เวลาสืบสวนนานถึง 1 ปี เกี่ยวกับประเด็นที่จีนให้การอุดหนุนแก่บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้มีราคาถูกกว่าคู่แข่ง เข้าข่ายการค้าที่ไม่ยุติธรรม เป็นที่คาดหมายอยู่แล้วว่าจีนจะทำการตอบโต้

จีนได้ตอบโต้ด้วยการสั่งให้บริษัทรถยนต์จีนระงับการลงทุนขนาดใหญ่ในประเทศสมาชิกอียูที่เห็นชอบให้มีการเพิ่มภาษี และไม่กี่วันต่อมาได้ยื่นอุทธรณ์ต่อองค์การการค้าโลก (WTO) หลังจากเคยยื่นร้องเรียนไปแล้วรอบหนึ่งแล้ว

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะยื่นเรื่องต่อ WTO แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าจีนน่าจะหลีกเลี่ยงการขยายความขัดแย้งไปไกลกว่านี้ เพราะว่าท่ามกลางความขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกาที่เข้มข้นมากขึ้น จีนจำเป็นต้องเพิ่มความสัมพันธ์ใกล้ชิดด้านเศรษฐกิจกับอียูมากกว่าเดิม ดังนั้น การตอบโต้น่าจะเป็นไปอย่างจำกัด เพราะอียูเป็นตลาดส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าจีนมากกว่า 40%

แซม รัดวัน ผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษา เอ็นฮานซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า จีนน่าจะพยายามทุกทางในการหาจุดกึ่งกลางกับอียู ดังนั้น ความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายไม่น่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ระดับเดียวกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งสหรัฐนั้นได้ประกาศเพิ่มภาษีรถยนต์ไฟฟ้าจีนไปแล้วก่อนหน้านี้ในอัตรา 100%

มีรายงานว่า จีนได้สั่งบริษัทรถยนต์หยุดการลงทุนขนาดใหญ่ในชาติสมาชิกอียูที่สนับสนุนการขึ้นภาษี แต่ส่งเสริมให้ลงทุนในชาติสมาชิกอียูที่ลงมติคัดค้าน

หวัง เวิ่นเตา รัฐมนตรีพาณิชย์จีน ได้กระทุ้งไปยังฝรั่งเศสให้แสดงบทบาทอย่างกระฉับกระเฉงในการผลักดันให้อียูหาแนวทางที่เป็นที่ยอมรับได้ของทั้งสองฝ่ายในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า หลังจากได้พบกับรัฐมนตรีช่วยการค้าของฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ทางฝรั่งเศสตอบกลับว่า อียูยังต้องการทำการค้ากับจีนต่อไป แต่จะไม่ยอมแพ้ต่อแรงกดดันในประเด็นที่มีความสำคัญยิ่ง

Advertisment

โป เจิ้งหยวน ผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษา “พลีนัม” ในเซี่ยงไฮ้ บอกว่า จีนไม่น่าจะต้องการทำลายความสัมพันธ์กับอียูอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่โลกอาจจะต่างไปจากเดิมภายหลังผลการเลือกประธานาธิบดีสหรัฐ

นักวิเคราะห์หลายคนชี้ว่า ความกลัวว่าสงครามภาษีจะบานปลาย ช่วยให้การทูตระหว่างจีนกับอียูยังคงอยู่ แม้ว่าการเจรจาจะติดหล่ม ขณะที่ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ไม่ว่าใครจะชนะ สุดท้ายแล้วสหรัฐก็จะลดการนำเข้าจากจีนมากขึ้นอยู่ดี อียูจึงยอมเล่นเกมยาว ถึงแม้จะไม่สามารถหาข้อตกลงได้ในระยะสั้น แต่อย่างน้อยก็จะสามารถระงับไม่ให้ความขัดแย้งขยายวงสมาชิกอียูบางประเทศ ทำแม้กระทั่งใช้ข้อพิพาทนี้เพิ่มความสัมพันธ์ “ทวิภาคี” กับจีนมากขึ้น เพื่อดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ จากจีน

Advertisment

การขึ้นภาษีรถยนต์จีนทำให้เกิดความแตกแยกในกลุ่มอียู เพราะเบื้องหลังการเป็นข่าวขัดแย้งใหญ่โต กลับเต็มไปด้วยเรื่องราวที่ซับซ้อนของการเจรจา บรรดาสมาชิกอียูต่างเดินทางไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการแบบไม่ขาดสาย อย่างเช่น รัฐมนตรีช่วยการค้าฝรั่งเศสเดินทางไปเซี่ยงไฮ้ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ด้านพาณิชย์

จะเห็นว่าสมาชิกอียู 27 ประเทศนั้น มี 10 ประเทศที่สนับสนุนการขึ้นภาษีรถยนต์จากจีน ขณะที่ 5 ประเทศ (รวมเยอรมนี ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป) “คัดค้าน” ส่วนอีก 12 ประเทศ “งดออกเสียง” ซึ่งนักการทูตยุโรปคนหนึ่ง ระบุว่า การที่อียูขาดเสียงข้างมากในการออกเสียงคัดค้าน โดยที่มีถึง 12 ประเทศ งดออกเสียงนั้น เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่า ประเทศเหล่านี้ต้องการดึงดูดการลงทุนจากจีนและหวังว่าจะถูกจีนตอบโต้น้อย ๆ

นายกรัฐมนตรีสโลวาเกีย เป็นผู้นำสมาชิกอียูรายล่าสุดที่เดินทางไปเยือนจีน เพื่อแสวงหาความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนที่ลึกขึ้น และเพื่อเป็น “หลักประกัน” ว่าจะไม่ถูกจีนตอบโต้รุนแรง ส่วนประธานาธิบดีฟินแลนด์ ซึ่งงดออกเสียงเช่นกัน ก็เดินทางไปเพิ่มความสัมพันธ์ด้านพาณิชย์เมื่อสัปดาห์ก่อน

จีนมี “แรงจูงใจ” ที่จะควบคุมข้อพิพาทไม่ให้ขยายวง เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัว จึงจำเป็นต้องหาผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อบรรเทาแรงกดดัน “เงินฝืด” ซึ่งบรรดานักการทูตและผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าคงใช้เวลาหลายปีกว่าจะบรรลุข้อตกลงเรื่องนี้ แต่ชัดเจนว่าจีนต้องการหลีกเลี่ยงสงครามการค้ากับยุโรป