เมื่อ “ทรัมป์” มา ส่อพาเงินเฟ้อพุ่ง กดดันเฟดกลับไปเข้มดอกเบี้ยอีก

ทรัมป์ เฟด เงินเฟ้อ
เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ และโดนัลด์ ทรัมป์

นโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ว่าที่ประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐ ที่ประกาศไว้ว่าจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากทุกประเทศในอัตรา 10% ถึง 20% และสำหรับสินค้าจากประเทศจีน คู่แข่งหมายเลข 1 จะเก็บอัตรา 60% เป็นอย่างน้อย สร้างความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้เงินเฟ้อสหรัฐพุ่งสูงและสร้างผลกระทบต่อนโยบายการเงินกับตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกอีกครั้ง 

สินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้กันอยู่ในสหรัฐอเมริกาเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงมาก โดยเฉพาะเสื้อผ้าและรองเท้าที่นำเข้าจากต่างประเทศคิดเป็นราว 90% ของทั้งหมด โดยมีจีนเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่

หากสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าตามนโยบายของทรัมป์ ต้นทุนภาษีจะถูกส่งผ่านไปยังผู้บริโภคที่ปลายทาง ทำให้ครัวเรือนในสหรัฐต้องจ่ายค่าสินค้าในราคาที่แพงขึ้น เป็นภาวะเงินเฟ้อจากแรงผลักของต้นทุน (Cost-push Inflation)

ผลการศึกษาจากสหพันธ์การค้าปลีกแห่งชาติ (National Retail Federation) ของสหรัฐที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมาพบว่า หากข้อเสนออัตราภาษีนำเข้าของทรัมป์ถูกใช้จริง ราคาค้าปลีกสินค้า อย่างเครื่องแต่งกาย รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ในครัวเรือน สินค้าสำหรับการเดินทาง และของเล่น จะเพิ่มขึ้นในอัตราเลข 2 หลัก ซึ่งราคาของสินค้าต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นนั้นจะทำให้ครัวเรือนในสหรัฐอาจสูญเสียอำนาจการใช้จ่าย (Spending Power) มากถึง 78,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 2.67 ล้านล้านบาท) 

ธนาคารเจพีมอร์แกน (JPMorgan) วิเคราะห์ว่า การขึ้นภาษีนำเข้าบวกกับการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลตามนโยบายของทรัมป์ อาจทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นกว่าสถานการณ์กรณีไม่มีภาษีดังกล่าวประมาณ 2.5 จุดเปอร์เซ็นต์ (Percentage Point) 

สถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (Peterson Institute for International Economics : PIIE) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจชื่อดังในสหรัฐคาดการณ์ตัวเลขสูงจนน่ากังวลว่า ภาษีนำเข้าของทรัมป์จะเพิ่มอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐระหว่าง 4.1 ถึง 74 จุดเปอร์เซ็นต์ภายในปี 2026 โดยคาดการณ์ว่าสถานการณ์กรณีไม่มีภาษีดังกล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐเฉลี่ยภายในปี 2026 จะอยู่ที่ 1.9% นั่นหมายความว่า หากมีการขึ้นภาษี อัตราเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นเป็นระหว่าง 6% ถึง 9.3% 

Advertisment

เมื่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด (Federal Reserve) ที่เพิ่งเริ่มปรับลดดอกเบี้ยลง ก็อาจจะต้องใช้นโยบายคงดอกเบี้ยสูง หรือปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้ออีก แล้วเมื่อธนาคารกลางสหรัฐใช้นโยบายการเงินเข้มงวด ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกย่อมจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างที่เป็นมาในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา

ในแถลงการณ์การตัดสินใจนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงข้อความจากครั้งก่อน ๆ หน้า โดยตัดข้อความส่วนที่ว่า “คณะกรรมการมีความมั่นใจมากขึ้นว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังเคลื่อนตัวไปสู่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน” ออกไป สะท้อนว่า FOMC เริ่มไม่มั่นใจหรือมั่นใจน้อยลงว่าเงินเฟ้อจะลงสู่เป้าหมาย 2% ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากการพิจารณาผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่โดนัลด์ ทรัมป์ คว้าชัย

Advertisment

ไม่เพียงแค่นโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้าเท่านั้นที่จะส่งผลไปถึงตลาดเงินตลาดทุน แต่นโยบายการใช้จ่ายทางการคลังของทรัมป์ที่จะเพิ่มการขาดดุลงบประมาณ ก็ถูกมองว่าจะสร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจและตลาดด้วยอีกทาง

เอริก นีลเสน (Erik Nielsen) หัวหน้าที่ปรึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ของกลุ่มธนาคารยูนิเครดิต (UniCredit) แสดงความเห็นว่า คำมั่นสัญญาด้านการคลังของทรัมป์เป็นปัญหาอย่างมากสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐและตลาดการเงินโลก เนื่องจากเป็นคำมั่นสัญญาที่จะขยายการขาดดุลงบประมาณ ซึ่ง ณ ปัจจุบันก็มากเกินไปอยู่แล้ว และขณะเดียวกัน ทรัมป์ยังขู่ว่าจะบ่อนทำลายสถาบันสำคัญ ๆ ด้วย

“เราต้องสรุปว่าทรัมป์เป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อตลาดการเงินสหรัฐ และต่อเสถียรภาพทางการเงินทั่วโลก” นีลเสนกล่าว

นอกจากนั้น ทรัมป์แสดงท่าทีที่จะเพิ่มอำนาจของประธานาธิบดีเหนือธนาคารกลางสหรัฐด้วย ซึ่งนี่ก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน แต่จะส่งผลกระทบต่อตลาดสหรัฐและให้อานิสงส์ต่อตลาดอื่น ๆ

อ้างอิง :