ดุลการค้าจีนเตรียมเกินดุลทะลุสถิติใหม่ ซึ่งจะทำให้เกิดการปะทะกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น และความไม่สมดุลทางการค้าที่รุนแรงมากขึ้นนี้ อาจเสี่ยงต่อการยั่วยุโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐ
บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า ตลอด 10 เดือนแรกของปี 2024 จีนเกินดุลการค้ากว่า 785,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 26.9 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 23% จากปี 2023 และเป็นยอดสูงสุดทะลุสถิติเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งจากการคำนวณของบลูมเบิร์ก จีนอาจมีดุลการค้าเกินดุลแตะ 1 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 34.32 ล้านล้านบาท) หากยังคงขยายตัวในขนาดเท่าเดิมไปจนถึงสิ้นปีนี้
แบรด เซตเซอร์ (Brad Setser) นักวิชาการอาวุโส (Senior Fellow) ที่สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Council on Foreign Relations) กล่าวว่า เนื่องด้วยราคาสินค้าส่งออกของจีนยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ปริมาณการส่งออกกลับเติบโตอย่างมหาศาล เศรษฐกิจจีนโดยรวมจึงเติบโตได้จากการส่งออก
ภาพรวมของการค้าของจีนที่กำลังเกินดุลมากขึ้นเรื่อย ๆ นี้ ทำให้มีแรงต่อต้านจากประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น รัฐบาลทรัมป์ที่มีแนวโน้มจะขึ้นกำแพงภาษี ซึ่งจะลดกระแสการส่งออกไปยังสหรัฐและประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่อเมริกาใต้ไปจนถึงประเทศในแถบยุโรปได้ยกระดับกำแพงภาษีต่อสินค้าจีน เช่น เหล็กและรถยนต์ไฟฟ้า (EVs) เรียบร้อยแล้ว
ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทต่างชาติยังพากันแห่ถอนเงินลงทุนออกจากจีนอีกด้วย ตามข้อมูลที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ยอดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนร่วงลงอย่างต่อเนื่องตลอดเก้าเดือนแรกของปี หากยอดการลงทุนยังคงลดลงต่อไปจนถึงสิ้นปีนี้ จะมียอดเงินทุนไหลออกเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่มีการบันทึกรายปีในปี 1990
ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนคอยให้คำสัญญาว่าจะมอบการสนับสนุนแก่บริษัทต่าง ๆ มากขึ้น คณะมนตรีรัฐกิจ หรือคณะมนตรีรัฐกิจสาธารณรัฐประชาชนจีน (State Council of the People’s Republic of China) ประกาศในวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่าจะยกระดับการสนับสนุนทางการเงินแก่ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศ ส่งเสริมพัฒนาการทางเศรษฐกิจ และรักษาเสถียรภาพการจ้างงาน
ตลอดสองถึงสามปีที่ผ่านมา บริษัทต่าง ๆ ของจีนได้เพิ่มศักยภาพการส่งออกอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเศรษฐกิจในประเทศกำลังซบเซา และมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การใช้สินค้าภายในประเทศทดแทนสินค้าที่ผลิตจากต่างประเทศยังระงับอุปสงค์ต่อการนำเข้าอีกด้วย
ดุลการค้าในเดือนตุลาคมเกินดุลมากสุดเป็นอันดับสาม เป็นรองจากเดือนมิถุนายน ส่วนดุลการค้าที่เกินดุลมากสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2015 เมื่อคำนวณในสกุลเงินหยวน ตลอดเก้าเดือนแรกของปี จีนมีดุลการค้าเกินดุลคิดเป็นสัดส่วน 5.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นตัวเงิน (Nominal GDP)
นับตั้งแต่ต้นปี 2024 จีนเกินดุลกับสหรัฐเพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เกินดุลกับสหภาพยุโรป (EU) เพิ่มขึ้น 9.6% และเกินดุลกับชาติอาเซียนพุ่งเกือบ 36%
ปัจจุบัน จีนเกินดุลการค้าทั้งหมดเกือบ 170 ประเทศ มากสุดนับตั้งแต่ปี 2021 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ สงครามสกุลเงินกำลังก่อตัวเช่นกัน ธนาคารกลางอินเดียประกาศว่าพร้อมอ่อนค่าเงินรูปี หากจีนตอบโต้การขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐด้วยการปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงต่อไป
เงินหยวนที่อ่อนค่าลงจะทำให้การส่งออกของจีนมีราคาถูกลงและทำให้จีนเกินดุลการค้ากับอินเดียมากกว่าเดิม ซึ่งในปีนี้ จีนเกินดุลการค้ากับอินเดียแล้วกว่า 85,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.92 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อน และมากกว่าเมื่อห้าปีก่อนเป็นสองเท่า