“จีนเข้ามาในภูมิภาคอเมริกาใต้อย่างรวดเร็ว เรียนรู้ไว และเตรียมที่จะอยู่ยาว” คำกล่าวของเอริก ฟาร์นสเวิร์ธ (Eric Farnsworth) เจ้าหน้าที่องค์กรสภาอเมริกาและอเมริกาโซไซตี้ (Council of the Americas and Americas Society) องค์กรไม่แสวงหากำไร และอดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐตามการรายงานของรอยเตอร์ (Reuters)
ด้วยทำเลที่ตั้ง ภูมิภาคอเมริกาใต้ถือเป็นหลังบ้านของสหรัฐในทางยุทธศาสตร์ แต่สถิติการค้าของจีนกับชาติละตินอเมริกากลับพลิกนำโด่งเหนือสหรัฐไปมากนัก อย่างในเปรู ประเทศส่งออกแร่ทองแดงอันดับ 2 ของโลก ดังนั้นแล้ว ทรัมป์จะพบว่า เขาได้พ่ายแพ้สงครามการค้ากับจีนไปเรียบร้อยแล้วและการพ่ายแพ้นี้เป็นการปรับโครงสร้างอำนาจครั้งใหญ่รอบๆ ภูมิภาคนี้ที่อุดมไปด้วยทรัพยากร พร้อมๆกันไปด้วย
เปรูสะท้อนถึงความท้าทาย/ปัญหาที่ขยายขึ้นของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ด้วยจีนมีบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในอเมริกาใต้ เนื่องจากจีนต้องการสินค้าส่งออกหลักจากภูมิภาคนี้ ได้แก่ ข้าวโพด ทองแดง ถั่วเหลือง เนื้อวัวและลิเทียม
จีนจึงเป็นหุ้นส่วนการค้าที่สำคัญตั้งแต่บราซิล ชิลีไปจนถึงอาร์เจนตินา ทำให้อิทธิพลทางการเมืองในภูมิภาคของสหรัฐลดน้อยลง แนวโน้มดังกล่าวขยายตัวขึ้นอีกจากสโลแกนอเมริกาต้องมาก่อนของทรัมป์ในสมัยแรกและอีกครั้งภายใต้รัฐบาลไบเดน
หลี่ ซิง (Li Xing) ศาสตราจารย์จากสถาบันยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศในมณฑลกวางตุ้ง กล่าวว่า ภูมิภาคอเมริกาใต้ช่วยคานบทบาทของสหรัฐรอบๆภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกและชดเชยความเสี่ยงจากสงครามการค้า
“จีนไม่สามารถเริ่มต้นด้วยการสร้างฐานทัพทหารในอเมริกาใต้ได้ เนื่องจากมีความอ่อนไหวเกินไป จีนจึงได้บุกเบิกความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจก่อน” หลี่กล่าว
จากข้อมูลสถิติการค้าระหว่างประเทศที่เก็บรวบรวมโดย UN Comtrade ในสังกัดสหประชาชาติ ระบุว่า เปรูพิสูจน์ได้ถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างมากผ่านมูลค่าการค้าของจีน-เปรูแซงหน้ามูลค่าการค้าสหรัฐ-เปรู นำห่าง 16,300 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ราว 5.6 แสนล้านบาท) เมื่อปี 2023 นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเพียง 10 ปี ซึ่งสหรัฐเคยเป็นผู้เล่นหลักมาก่อน โดยมาพร้อมกับการลงทุนตั้งแต่ด้านพลังงานไปจนถึงการทำเหมืองแร่
จนกระทั่งจีนตามทันสหรัฐในปี 2015 และช่องว่างการค้าสองประเทศกับเปรูขยายใหญ่ขึ้นในช่วงทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสมัยแรกตั้งแต่ปี 2017-2021 และอีกครั้งภายใต้โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ
เปรูเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ APEC) ในระหว่างวันที่ 10-16 พฤศจิกายนนี้ คาดว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนเข้าร่วมด้วยและมีกำหนดกล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิดท่าเรือแห่งใหม่ในเปรูที่รัฐวิสาหกิจจีนสร้าง รวมถึงคาดว่าไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐเข้าร่วมการประชุมด้วยเช่นกัน
แสงของความเปลี่ยนแปลงคือโครงการท่าเรือขนาดใหญ่แห่งใหม่ในเมืองชานคาย ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือห่างจากกรุงลิมาไปราว 80 กิโลเมตร เพราะคือเส้นทางขนส่งสินค้าตรงๆจากภูมิภาคอเมริกาใต้ไปยังเอเชีย โดยเฉพาะท่าเรือในจีน ซึ่งจะช่วยร่นระยะการขนส่งทางทะเลไปเอเชียให้สั้นลงสำหรับสินค้าเปรูและบราซิล ทำให้ลดระยะเวลาขนส่งได้ 10, 15 และ 20 วันขึ้นกับเส้นทาง
ท่าเรือแห่งใหม่ในเมืองชานคายในเปรูแข่งกับท่าเรือของเม็กซิโกและท่าเรือลองบีชของรัฐแคลิฟอร์เนียในสหรัฐ โดยมีจุดมุ่งหมายคือการกลายเป็นสิงคโปร์แห่งละตินอเมริกา
เปรูหวังว่าจะลงนามในข้อตกลงกับจีนในระหว่างการประชุมเอเปกเพื่อยกระดับข้อตกลงการค้าเสรีฉบับปี 2009 โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา อีคอมเมิร์ซและพิธีการศุลกากร
“หากสหรัฐไม่ให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ในภูมิภาคอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ภูมิภาคนี้จะยังคงเอียงไปทางผลประโยชน์ของจีนต่อไป” ฟาร์นสเวิร์ธ อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐกล่าว