คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของ “โดนัลด์ ทรัมป์” เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา กลายเป็นตัวบ่งชี้สำคัญต่ออนาคตของเศรษฐกิจโลกในปี 2025 และหลังจากนั้น อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในเชิงนโยบายของรัฐบาลอเมริกัน ทั้งที่เป็นนโยบายภายในประเทศและนโยบายต่างประเทศ
ทรัมป์ เวอร์ชั่น 2.0 คือสัญญาณบ่งบอกถึงการกลับมาของลัทธิ “อเมริกาต้องมาก่อน” หลักสำคัญที่ทรัมป์ยึดถือมาโดยตลอด อันหมายถึงการให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกสุดต่อผลประโยชน์ของคนอเมริกัน เหนือกว่าผลประโยชน์ของพันธมิตรใด ๆ หรือกรอบความร่วมมือพหุภาคีไหน ๆ ก็ตามที
จุดยืนที่ในเวลานี้ ผู้สันทัดกรณีหลายคนเรียกว่าเป็น “อเมริกา เฟิรสต์ ด็อกทรีน” นั้นสะท้อนอุดมการณ์กีดกันทางการค้าอย่างชัดเจน และแม้จะได้รับความนิยมอย่างมากภายในประเทศ แต่จะส่งผลผูกพันต่อเนื่องอย่างใหญ่หลวงต่อสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลก คำสัญญาที่ทรัมป์ประกาศเอาไว้ ตั้งแต่การตั้งกำแพงภาษี 10%-20% สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด หรือสูงถึง 100% สำหรับสินค้าบางหมวดจากประเทศจีน แสดงให้เห็นถึงการหวนกลับไปให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาสูงสุด โดยไม่แยแสว่าจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศมากมายแค่ไหนก็ตาม
ยุทธศาสตร์ของทรัมป์นั้นชัดเจนมาก ว่าต้องการปรับเปลี่ยนระบบการค้าโลกให้กลายเป็นเครื่องมือรับใช้ในทั่วทุกมุมโลก เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสูงสุดของสหรัฐอเมริกา ผลลัพธ์ในทางปฏิบัตินั้นเป็นที่คาดการณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการลดการผูกพัน พึ่งพาสถาบันระหว่างประเทศต่าง ๆ, การให้ความสำคัญต่อความตกลงการค้าทวิภาคี, การถอนตัวออกจากกรอบความร่วมมือพหุภาคีต่าง ๆ, การรื้อความตกลงทางการค้ากับคู่ค้าสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นจีน เม็กซิโก หรืออินเดีย
สิ่งที่จะกลายเป็นผลลัพธ์ต่อเนื่องมาจากการนี้ก็คือ การตอบโต้ทางการค้าด้วยกำแพงภาษี และความปั่นป่วนของความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศ
จุดยืนตามอุดมการณ์โปรเท็กชั่นนิสม์ของทรัมป์ อาจสร้างความพึงพอใจให้กับผู้สนับสนุนภายในประเทศ ที่เชื่อหรือคิดว่าตนถูกเอารัดเอาเปรียบจากโลกาภิวัตน์ แต่โดยรวมแล้วก็จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภคอเมริกัน ในรูปของราคาสินค้าที่แพงขึ้น ส่งผลให้การบริโภคลดลง และกลายเป็นปัจจัยให้เศรษฐกิจอเมริกันชะลอตัว
ในขณะเดียวกัน การขาดความตกลงพหุภาคีทางการค้า ก็สามารถสร้างความไม่แน่นอนให้เกิดขึ้นกับบริษัทอเมริกันในตลาดโลก เสี่ยงต่อการแตกแยกกับพันธมิตร และเร่งให้เกิดการจับกลุ่มทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นทางเลือกแยกออกมาจากอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาให้เร็วขึ้นและมากขึ้น
ว่ากันว่าผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ 2.0 จะส่งผลสะเทือนต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะชาติกำลังพัฒนาที่พึ่งพาสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดระบายสินค้า บรรดาประเทศในละตินอเมริกา, แอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เดิมเคยได้ประโยชน์จากการเข้าถึงตลาดอเมริกา อาจเผชิญหน้ากับการถูกจำกัดการเข้าถึง
โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม อย่างเช่น อุตสาหกรรมการเกษตร, สิ่งทอ และเทคโนโลยี บีบบังคับให้ประเทศเหล่านี้หันไปหา “ตลาดทางเลือก” และอาจต้องพึ่งพามหาอำนาจเกิดใหม่ อย่างเช่นจีน จนก่อให้เกิดกลุ่มพันธมิตรใหม่ในระดับภูมิภาคมากขึ้น
การเคลือบแคลงหรือเพิกเฉยต่อสถาบันระหว่างประเทศ อาทิ องค์การการค้าโลก ของทรัมป์ อาจก่อให้เกิดสภาวะแวดล้อมทางการค้าระหว่างประเทศที่เป็นปฏิปักษ์ต่อชาติกำลังพัฒนา ที่เดิมพึ่งพาสถาบันทำนองนี้เพื่อไกล่เกลี่ย ยุติข้อพิพาททางการค้า เมื่อผสมผสานกับการขาดหายไปของกรอบความร่วมมือพหุภาคี สภาพแวดล้อมทางการค้าโลกอาจเปลี่ยนไปกลายเป็นเวทีที่มีการแข่งขันช่วงชิงกันมากขึ้น เพราะแต่ละประเทศถูกบีบให้ต้องปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ยึดถือผลประโยชน์ของชาติตนเป็นสำคัญ
สำหรับชาติกำลังพัฒนา ทรัมป์ 2.0 จะนำพาซึ่งความผันผวนทางเศรษฐกิจมาให้ ต้นทุนหนี้สินสูงขึ้น, การเข้าถึงตลาดอเมริกันลดลง, ความจำเป็นต้องพึ่งพาพันธมิตรทางเลือกทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว ระเบียบเศรษฐกิจโลกจะพลิกผันเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาวะแตกแยก แบ่งฝักฝ่าย แยกย่อยกลายเป็นกลุ่มระดับภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ไร้ระบบ ไร้กฎเกณฑ์หนึ่งเดียวให้ยึดถืออีกต่อไป
กลายเป็นฉากทัศน์ใหม่ ที่ว่าด้วยระบบเศรษฐกิจโลกหลายขั้วไปโดยสมบูรณ์แบบนั่นเอง