กัมพูชาตั้งเป้าพ้นสถานะ ‘ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด’ ภายในปี 2029 

กัมพูชา
งานแรลลี Gamball 3000 ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2024 (ภาพโดย TANG CHHIN Sothy / AFP)

กัมพูชาตั้งเป้าหลุดพ้นสถานะ “ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด” (LDC) ภายในปี 2029 แม้ว่าการพ้นสถานะนี้จะทำให้สูญเสียมาตรการสนับสนุนระหว่างประเทศ ซึ่งเสี่ยงที่ประชาชนจะตกงานหลายแสนคน และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะชะลอเหลือโตปีละไม่เกิน 1.5% 

สำนักข่าวซินหัว (Xinhua) ของทางการจีนรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2024 กัมพูชาและโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เผยแพร่เอกสารสรุปนโยบายเกี่ยวกับการผลักดันให้กัมพูชาหลุดพ้นจากสถานะ “ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด” (Least Developed Country : LDC) ภายในปี 2029

เอกสารดังกล่าวประเมินถึงโอกาสการสูญเสียมาตรการสนับสนุนระหว่างประเทศ เช่น ข้อเสนอที่ให้ยกเว้นการปฏิบัติตามความตกลงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPS Waivers) ภายใต้กฎขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO การเข้าถึงตลาดโดยได้รับสิทธิพิเศษ และการจัดหาเงินทุนแบบผ่อนปรน ฯลฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อสาธารณสุข สินค้าส่งออกที่สำคัญ อย่างเสื้อผ้าสำเร็จรูป ข้าวสาร และจักรยาน และอาจลดการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของกัมพูชา 

การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของกัมพูชาอาจชะลอตัวลงเหลือโต 0.5% ถึง 1.5% และอาจมีการสูญเสียตำแหน่งงาน 165,000 อัตรา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงที่ทำงานในภาคส่วนการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชน 432,000 คนเสี่ยงตกอยู่ในความยากจน หากไม่เร่งวางรากฐานที่ถูกต้องโดยเร็วที่สุด

บิน โทรเชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนของกัมพูชากล่าวว่า เพื่อให้แน่ใจว่าการที่กัมพูชาหลุดพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุดจะไม่ขัดขวางความก้าวหน้าด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม กระทรวงการวางแผนจะร่วมมือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง สถาบัน ภาคเอกชน พันธมิตรการพัฒนา และภาคประชาสังคม ในการพัฒนากลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่น

โทรเชย์ชี้ว่ายุทธศาสตร์นี้จะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ห้าเหลี่ยมของรัฐบาล และมุ่งเน้นที่ 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การเสริมสร้างทุนมนุษย์ การกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ การขยายตลาดการค้า การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการเสริมสร้างกลไกสนับสนุนทางสังคม

Advertisment

อลิสซาร์ ชาเกอร์ (Alissar Chaker) ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำกัมพูชา เผยว่า การพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด จะเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของเส้นทางการพัฒนาของกัมพูชา ซึ่งจะสร้างทั้งความท้าทายและโอกาส

ชาเกอร์กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะเปิดเส้นทางใหม่สู่การเติบโตที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่น และเป็นความพยายามร่วมกันนอกเหนือจากด้านการค้า ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของหุ้นส่วนการพัฒนาและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางสังคมทั้งหมดเพื่อคว้าโอกาสและสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับกัมพูชา

Advertisment

ชาเกอร์เสริมว่า UNDP จะสนับสนุนกัมพูชาในช่วงการเปลี่ยนผ่านโดยส่งเสริมการเร่งการพัฒนามนุษย์ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อการเติบโตที่ยืดหยุ่น และเปลี่ยนผ่านจากการระดมทุนสู่การจัดหาเงินทุน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเพิ่มเติมว่า สถานะ “ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด” (LDC) เป็นหนึ่งในสถานะการจัดกลุ่มประเทศซึ่งสหประชาชาติ (UN) เริ่มจัดกลุ่มเมื่อหลายทศวรรษก่อน โดยพิจารณาจากมิติทางเศรษฐกิจและสังคม 

สหประชาชาติระบุว่า “ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด” คือประเทศที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งเผชิญกับอุปสรรคเชิงโครงสร้างที่ขัดขวางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประเทศเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะช็อกทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมี “ทุนมนุษย์” (Human Asset) ในระดับต่ำ

ปัจจุบันประเทศที่อยู่ในสถานะ “ประเทศพัฒนาต่ำที่สุด” มีทั้งหมด 45 ประเทศ เช่น กัมพูชา เมียนมา ลาว เนปาล อัฟกานิสถาน เยเมน แทนซาเนีย เป็นต้น ทั้งนี้ คณะกรรมการเพื่อการพัฒนา (CDP) ของสหประชาชาติจะทบทวนสถานะ LDC ทุก ๆ 3 ปี