บริษัทแอปเปิล (Apple) ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีสหรัฐยื่นข้อเสนอเพิ่มการลงทุนในอินโดนีเซียขึ้นอีก เกือบ 10 เท่า โดยจะลงทุนอีกราว 100 ล้านเหรียญ (ราว 3,400 ล้านบาท) ในช่วง 2 ปีข้างหน้า เพื่อโน้มน้าวให้รัฐบาลอินโดนีเซียยกเลิกคำสั่งห้ามขายไอโฟน 16
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2024 บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานอ้างแหล่งข่าวว่า บริษัทแอปเปิล (Apple) ของสหรัฐยื่นข้อเสนอเพิ่มการลงทุนในอินโดนีเซียขึ้นอีก 10 เท่า นับเป็นความพยายามล่าสุดที่จะโน้มน้าวรัฐบาลอินโดนีเซียให้ยกเลิกคำสั่งห้ามขายไอโฟน 16 (iPhone 16)
แหล่งข่าวที่ไม่ต้องการให้เปิดเผยชื่อระบุว่า ข้อเสนอนี้จะทำให้ในอีก 2 ปีข้างหน้าแอปเปิลลงทุนเกือบ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,400 ล้านบาท) ในอินโดนีเซีย ชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งเทียบกับแผนการลงทุนเดิมของแอปเปิลมีมูลค่าเกือบถึง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (346 ล้านบาท) ซึ่งจะลงทุนในโรงงานผลิตอุปกรณ์เสริมและส่วนประกอบในเมืองบันดุง ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงจาการ์ตา
หลังแอปเปิลยื่นข้อเสนอที่เพิ่มการลงทุนล่าสุดนี้ ทำให้ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซียที่เป็นผู้ห้ามการขายไอโฟน 16 นั้น ต้องการให้แอปเปิลเปลี่ยนแผนการลงทุน โดยให้หันไปเน้นที่การวิจัยและการพัฒนาสมาร์ทโฟนของแอปเปิลในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซียยังไม่ได้ให้คำตอบเกี่ยวกับข้อเสนอลงทุนใหม่ล่าสุดนี้ของแอปเปิล
ตามข้อเสนอเดิม กระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซียเรียกร้องให้ผู้บริหารระดับอาวุโสของแอปเปิลพบหารือกับนายอากุส กูมีวัง การ์ตาสมิตา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย แต่หลังจากเดินทางมาจาการ์ตา ผู้บริหารอาวุโสของแอปเปิลต้องหารือกับอธิบดีในกระทรวงแทน เนื่องจากรัฐมนตรีไม่สะดวก
ความเคลื่อนไหวของแอปเปิลเกิดขึ้นหลังจากกระทรวงอุตสาหกรรมระงับการขายไอโฟน 16 ของแอปเปิล โดยให้เหตุผลว่าแอปเปิลไม่ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดการลงทุนที่ต้องใช้วัสดุในประเทศ 40 เปอร์เซ็นต์ในการผลิตสมาร์ทโฟนและแท็บเลต
ตามข้อมูลรัฐบาลอินโดนีเซีย แอปเปิลลงทุนในอินโดนีเซียเพียง 95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,200 ล้านบาท) ผ่านศูนย์พัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งถือว่ามูลค่าการลงทุนยังไม่ถึง 107 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,700 ล้านบาท) ตามที่ตกลงกันไว้ นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังระงับการขายโทรศัพท์พิกเซลกูเกิลของบริษัทอัลฟาเบทด้วยเหตุผลเดียวกัน
กลยุทธ์อันแข็งกร้าวของอินโดนีเซียดูเหมือนจะได้ผล โดยการห้ามจำหน่ายไอโฟน 16 กลายเป็นตัวอย่างที่รัฐบาลภายใต้ปราโบโว ซูเบียนโต (Prabowo Subianto) ประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนใหม่ใช้กดดันบริษัทต่างชาติเพื่อให้เพิ่มการผลิตในประเทศ เนื่องจากต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ