เมื่อทรัมป์ 2 “ฉายหนังม้วนเก่า” ลุ้นคำขู่ “ซ้ำรอย” รอบแรกหรือไม่

โดนัลด์ ทรัมป์
โดนัลด์ ทรัมป์ (ภาพโดย Allison ROBBERT / POOL / AFP)
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

ล่าสุด โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ซึ่งกลับมาดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ได้ประกาศแล้วว่าจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 10% เม็กซิโกและแคนาดา 25% ซึ่งทั้งสามล้วนเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ โดยเขาอ้างว่าจะดำเนินการตั้งแต่วันแรกที่ทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง คือวันที่ 20 มกราคม 2025 เลยทีเดียว โดยอาศัยคำสั่งของประธานาธิบดีที่เป็นฝ่ายบริหาร การออกมาพูดเรื่องนี้แต่หัววันก็เพราะเป็นนโยบายหลักที่เขาหาเสียงเอาไว้

วอชิงตันโพสต์ระบุว่า หากมีการเก็บภาษีจริงจะกระทบต่อการค้ากับอเมริกาเหนือประมาณ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 6 แสนล้านดอลลาร์สำหรับการค้ากับจีน

แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าจะกระทบต่อคนอเมริกันอย่างไร แต่บรรดานักเศรษฐศาสตร์เตือนว่าจะทำให้ราคาสินค้าจำเป็นอย่างของกินของใช้ รวมถึงรถยนต์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์พุ่งขึ้น เพราะสินค้าที่เม็กซิโกส่งเข้าจำหน่ายในสหรัฐส่วนใหญ่เป็นสินค้าในภาคการผลิต ซึ่งรวมถึงรถยนต์ เครื่องจักร และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ นอกจากนี้ เม็กซิโกยังเป็นผู้ป้อนผลไม้สดให้กับสหรัฐมากกว่าครึ่งหนึ่ง

ADVERTISMENT

ส่วนแคนาดาส่งออกน้ำมันดิบและปิโตรเลียม รวมถึงเครื่องจักรและชิ้นส่วนเครื่องจักร นอกจากนี้ สหรัฐยังพึ่งพาการนำเข้าพลาสติก ยา ไม้ท่อน และสินค้าเกษตรจากแคนาดาอีกด้วย ส่วนสินค้าจากจีนนั้น สหรัฐนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์กีฬา พลาสติก และเฟอร์นิเจอร์

ขณะเดียวกัน มีคำถามว่าทรัมป์สามารถดำเนินการเก็บภาษีได้โดยฝ่ายเดียวหรือไม่ ซึ่งหากดูตามกฎหมายแล้ว ได้ให้อำนาจหลายอย่างแก่ประธานาธิบดีเกี่ยวกับภาษี โดยเฉพาะในยามที่มีเหตุต้องปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศที่ได้รับภัยคุกคามจากการค้าโลก ถึงอย่างนั้นก็ตาม ไม่ชัดเจนว่า หากเป็นกรณีเก็บภาษีแบบครอบคลุมเหวี่ยงแหสินค้าต่างประเทศทั้งหมดจะทำได้หรือไม่

อันที่จริง การให้คำมั่นสัญญาในเรื่องทำนองนี้ ทั้งการจะเก็บภาษีสินค้าต่างประเทศ การลดภาษีนิติบุคคลให้กับบริษัทอเมริกัน การเพิ่มการผลิตพลังงานฟอสซิล และการลดกฎระเบียบต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ทรัมป์ใช้หาเสียงมาตั้งแต่สมัยแรกแล้ว ซึ่งหากย้อนดูช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งสมัยแรก

ADVERTISMENT

และใช้วิธีเล่นงานทางภาษีต่อคู่ค้าต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเม็กซิโก แคนาดา จีน และสหภาพยุโรป ด้วยข้ออ้างลดการขาดดุลการค้า แต่หากดูผลลัพธ์ตามข้อมูลของสำมะโนประชากรสหรัฐ กลับพบว่าขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น โดยขาดดุลจาก 7.924 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2017 เป็น 9.015 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2020

วอชิงตันโพสต์ ซึ่งเป็นสื่อที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำข่าวในเชิงสืบสวนสอบสวนชี้ว่า หากย้อนกลับไปดูสมัยแรกของทรัมป์ จะเห็นว่าวาทกรรมต่าง ๆ และคำมั่นสัญญาเรื่องการเก็บภาษีสินค้าต่างประเทศ ไม่ได้ถูกนำมาใช้เป็นนโยบายที่เฉพาะเจาะจงเสมอไป คำขู่อย่างเรื่องเนรเทศผู้อพยพจำนวนมาก หรือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอื่น ๆ ก็ไม่เคยเป็นจริง

ADVERTISMENT

บางครั้งก็ถูกเลื่อนออกไปแบบไม่มีกำหนด อย่างที่เกิดขึ้นกับการเจรจาเรื่องภาษีรอบสุดท้ายกับจีน ที่บรรลุข้อตกลงกันได้บางส่วนในปี 2019 ก็ไม่เคยถูกนำมาใช้จริง เช่นเดียวกับข้อเสนอเกี่ยวกับการเก็บภาษีศุลกากรอีกหลายอย่างที่ทรัมป์ประกาศแบบส่งเดช โดยปราศจากรายละเอียดหรือแผนการ ก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริงเช่นกัน

ผู้เชี่ยวชาญบางคนโต้แย้งว่า หากทรัมป์เก็บภาษีกับเม็กซิโกและแคนาดา อาจละเมิดข้อตกลงเสรีการค้า “สหรัฐอเมริกา-เม็กซิโก-แคนาดา” (USMCA) ซึ่งมาแทนที่ข้อตกลงเสรีการค้าอเมริกาเหนือหรือนาฟตา ที่ทรัมป์เป็นผู้เจรจาเอง และมีผลบังคับใช้ในปี 2020 โดยกำหนดว่าสินค้าที่ค้าขายข้ามแดนระหว่าง 3 ประเทศนี้ต้องปลอดภาษี

คำขู่ของทรัมป์ได้รับการตอบโต้ทันควันจากทั้งเม็กซิโกและแคนาดา โดยประธานาธิบดีเม็กซิโกประกาศว่า หากทรัมป์เดินหน้าเก็บภาษีจริง ทางเม็กซิโกก็จะเก็บภาษีตอบโต้เช่นกัน การเก็บภาษีจะกระทบต่อบริษัทรถยนต์อเมริกันในเม็กซิโก อย่างเช่นเจเนอรัล มอเตอร์และฟอร์ด ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ไปยังสหรัฐ

ส่วนแคนาดานั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีความปลอดภัยสาธารณะได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน ย้ำว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและแคนาดาเป็นไปอย่าง “สมดุลและได้รับประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย” ส่วนผู้นำของมณฑลควิเบก ซึ่งเป็นมณฑลใหญ่สุดของแคนาดาระบุว่า ท่าทีของทรัมป์สร้าง “ความเสี่ยงใหญ่หลวง” ต่อเศรษฐกิจแคนาดา

ต้องรอดูกันต่อไป ว่าคำขู่ของทรัมป์รอบนี้จะเหมือนกับรอบแรก คือส่วนใหญ่แล้วไม่เกิดขึ้นจริงหรือไม่