กิจกรรมภาคการผลิตของสหรัฐยังอยู่ในโซนหดตัว แต่มีสัญญาณดีขึ้น โดยขยายตัวมากสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม หลังยอดคำสั่งซื้อใหม่กลับมาสูงกว่า 50 จุด
บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า กิจกรรมภาคการผลิตของสหรัฐในเดือนพฤศจิกายนหดตัวลงน้อยกว่าที่คาด เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ (New Orders) เพิ่งกลับมาอยู่ในแดนขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบแปดเดือน บ่งชี้ว่าความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจกำลังปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
สถาบันด้านการจัดซื้อและซัพพลายเชน (Institute for Supply Management) หรือ ISM รายงานว่า ค่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.9 จุด เป็น 48.4 จุด มากสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม และมากกว่าค่ากลางที่ประมาณการไว้ 47.5 จุด ในแบบสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่จัดทำโดยบลูมเบิร์ก แม้ว่าตัวเลขโดยรวมจะต่ำกว่า 50 จุด แสดงให้เห็นถึงการหดตัวเป็นเดือนที่แปดติดต่อกัน แต่ภาคการผลิตในหลายหมวดหมู่มีตัวเลขปรับตัวดีขึ้น
ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในเดือนพฤศจิกายนมีค่าสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน บ่งชี้ถึงเสถียรภาพในภาคการผลิตหลังจากที่เผชิญกับภาวะตกต่ำมานานถึงสองปี ส่วนยอดคำสั่งซื้อใหม่เพิ่มขึ้น 3.3 จุด มากสุดในรอบห้าเดือน แสดงถึงความหวังที่เริ่มผลิบานหลังรู้ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ
ทิโมธี ฟิโอเร (Timothy Fiore) ประธานคณะกรรมการการสำรวจด้านธุรกิจภาคการผส่งลิต (Manufacturing Business Survey Committee) ของ ISM กล่าวว่า อุปสงค์ยังคงอ่อนแอ แม้จะอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนผลผลิตตกลงอีกครั้ง แต่ด้านปัจจัยการผลิตยังคงเอื้ออำนวย
อุตสาหกรรมการผลิต 11 หมวดหมู่ รายงานการหดตัวในเดือนพฤศจิกายน นำโดยอุตสาหกรรมขึ้นรูปวัตถุ พลาสติก ยาง และเคมีภัณฑ์ มีเพียงสามอุตสาหกรรมเท่านั้นที่มีการขยายตัว
ตัวชี้วัดด้านกิจกรรมการผลิตและการจ้างงานของโรงงานดีขึ้น แม้จะยังคงอยู่ในแดนหดตัว โดยดัชนีการจ้างงานภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing Employment Index) เพิ่มขึ้น 3.7 จุด มากสุดในรอบสองปี เป็น 48.1 จุด ในเดือนพฤศจิกายน
นอกจากนี้ ต้นทุนวัตถุดิบยังลดลงอีกด้วย โดยดัชนีราคา (Prices-Paid Index) ร่วงลง 4.5 จุด เป็น 50.3 จุด ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2024 บ่งชี้ว่าบริษัทต่าง ๆ สามารถคุมต้นทุนได้มากขึ้น
ซึ่งช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นว่าราคาสินค้าในเศรษฐกิจจะยังคงอยู่ตัว กระนั้น ดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (Personal Consumption Expenditures – PCE) ซึ่งเป็นตัวเลขอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของธนาคารกลางสหรัฐที่เผยแพร่ในปลายเดือนพฤศจิกายน แสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนตุลาคมยังคงขยายตัวเร่งขึ้นเมื่อเทียบจากปีก่อน (YOY) คาดได้ว่าเฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยระดับสูงต่อไป และไม่มีความรีบร้อนที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลง
รายงานของ ISM ยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่า ดัชนีสินค้าโรงงานคงคลัง (Factory Inventories Index) เพิ่มขึ้น 5.5 จุด เป็น 48.1 จุด ภายในหนึ่งเดือนหลังจากมีการหดตัวมากสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2012 บ่งชี้ว่าการปรับลดสินค้าคงคลังอย่างมากในเดือนกันยายนและเดือนตุลาคมได้สิ้นสุดลงแล้ว ซึ่งอาจช่วยเสริมยอดสั่งซื้อและการผลิตให้มากขึ้น
ยอดสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อผู้ผลิต เนื่องจากยอดสั่งซื้อที่ค้างไว้ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤศจิกายนมีการร่วงลงต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ยอดสั่งซื้อที่ค้างอยู่มีการหดตัวเรื่อยมานับตั้งแต่เดือนกันยายน 2022