รู้จัก “Brain Rot” คำศัพท์แห่งปี 2024 นิยามการเสพโซเชียลของ Gen Z

คำศัพท์ประจำปี 2024 Brain Rot

รู้จักความหมายและที่มาของ “Brain Rot” คำศัพท์แห่งปี 2024 จัดอันดับโดย Oxford University Press คำที่ใช้จำกัดความการเสพโซเชียลที่เต็มไปด้วยคอนเทนต์คุณภาพต่ำในปัจจุบัน 

ในแต่ละปีคำศัพท์ที่ถูกพูดถึง และหยิบมาใช้มากที่สุด จะถูกสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford University Press) คัดเลือกจากการโหวตของสาธารณชนมาจัดอันดับให้คำศัพท์นั้นกลายมาเป็น “คำศัพท์ประจำปี” โดยหลักเกณฑ์การคัดเลือกจะอ้างอิงจากการใช้งานคำศัพท์กว่า 26,000 ล้านคำ ที่นำมาจากแหล่งข่าวที่ใช้ภาษาอังกฤษทั่วโลก ภายใต้แนวคิดการสะท้อนอารมณ์และบทสนทนาทั้งหมดในแต่ละปี

สำหรับปี 2024 นี้ ตำแหน่งคำศัพท์แห่งปี หรือ Word of the Year 2024 ตกเป็นของ “Brain Rot” หนึ่งในคำศัพท์ที่มีความหมายน่าสนใจและมีผู้คนใช้ใช้เยอะมากที่สุดคำหนึ่งในทั้งปีที่ผ่านมา จนชนะการโหวตจากผู้ใช้งานและได้รับรางวัลจากสำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford University Press) ไปครอง

(เครดิตภาพ Oxford University Press)

ซึ่งคำว่า Brain Rot หรือ “สมองเน่า” ใช้จำกัดความบุคคลที่คลุกคลีกับคอนเทนต์บนโลกออนไลน์มากเกินไป โดยเฉพาะเนื้อหาของคอนเทนต์ในปัจจุบันที่มีคุณภาพต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น Gen Z และ Gen Alpha ที่ให้ความสนใจกับคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นพิเศษ สะท้อนให้เห็นการเสื่อมถอยของความสามารถในการรับรู้ อาทิ ระยะเวลาความสนใจต่อ 1 คอนเทนต์สั้นลง

โดย Oxford University Press ระบุว่า คำนี้ถูกพบว่าบันทึกไว้ครั้งแรกในปี 1854 บนหนังสือ Walden ของ Henry David Thoreau หนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตที่เรียบง่าย ซึ่งมีส่วนหนึ่งของหนังสือได้กล่าวว่า

“ขณะที่อังกฤษพยายามรักษาโรคมันฝรั่งเน่า แต่ไม่พยายามรักษาสมองเน่าที่มีอย่างแพร่หลายและร้ายแรงกว่าอย่างนั้นหรือ”

ADVERTISMENT

ขณะเดียวกันคำนี้ก็ปรากฏตัวบนโลกออนไลน์เมื่อปี 2004 และกลับมาเป็นกระแสในปี 2566 โดยกลายมาเป็น Meme ที่คนนิยมใช้กันทั่วโลก ซึ่ง Oxford ระบุความถี่ในการใช้งานกว่า 230% ระหว่างปี 2023 ถึง 2024

ทั้งนี้คำว่า “Demure” ที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ก็ได้รับการคัดเลือกเข้าชิงคำศัพท์แห่งปีด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นคำศัพท์แห่งปีของ Dictionary.com แพลตฟอร์มพจนานุกรมออนไลน์ไปเป็นที่เรียบร้อยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ADVERTISMENT

อ้างอิงข้อมูลจาก Oxford University Press