คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2024 ก่อให้เกิดบรรยากาศตึงเครียดสูงมากในระบบการค้าโลก ไม่เพียงแต่หลาย ๆ ฝ่ายเล็งเห็นตรงกันว่า สงครามทางการค้ากำลังรอวันระเบิดขึ้นเท่านั้น ส่วนใหญ่ยังเชื่อกันด้วยว่า ศึกการค้าที่ว่านี้ จะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญด้วยอีกต่างหาก
สถานการณ์ดังกล่าวปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม เมื่อสหรัฐอเมริกาเสร็จสิ้นการทบทวนพิกัดอัตราภาษีศุลกากรตามมาตรา 301 แล้วมีมติให้เพิ่มภาษีศุลกากรหรือภาษีนำเข้าสำหรับกลุ่มสินค้าจากจีนหลากหลายหมวดสินค้า ในห้วงเวลาเดียวกัน แคนาดา ก็ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จากจีนเป็น 100% ควบคู่ไปกับการขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมจากจีนเป็น 25% ส่วนสหภาพยุโรป (อียู) มีมติเห็นชอบกับการขึ้นภาษีนำเข้า อีวี จากจีนเป็น 45%
ความเคลื่อนไหวเหล่านั้น เมื่อบวกกับข้อเสนอของ “ว่าที่” ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 60% ควบคู่กับการขึ้นภาษีนำเข้าอย่างครอบคลุมอีก 10-20% ความตึงเครียดทางการค้าของโลกก็มีแนวโน้มลุกลามขยายตัวอย่างช่วยไม่ได้
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า สภาพการณ์ดังกล่าวนี้จะส่งผลกระทบทางลบไปทั่วโลก ในทางหนึ่งก็คือ ลดการจับจ่ายใช้สอยในสหรัฐอเมริกาและจีนลง ในกรณีของสหรัฐนั้นเป็นเพราะภาษีที่เพิ่มขึ้นทำให้ของแพงขึ้น ส่วนในกรณีของจีนนั้น เมื่อส่งออกได้น้อย การผลิตก็มีปัญหา แล้วเศรษฐกิจโดยรวมก็จะมีปัญหาตามไปด้วย รวมทั้งเงินในกระเป๋าของผู้บริโภค
ในเวลาเดียวกัน การผลิตที่ลดลงของจีน ทำให้ความต้องการวัตถุดิบและชิ้นส่วนประกอบหดหายไปด้วย ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปตามลำดับของห่วงโซ่การผลิต ก่อให้เกิดปัญหาในประเทศอื่น ๆ ตามไปด้วย
ข้อสังเกตของนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เหล่านี้ก็คือ ประเทศใดก็ตามที่มีความเชื่อมโยงในเชิงการค้ากับจีนสูงมาก ก็จะยิ่งได้รับผลกระทบในทางลบสูงมากตามไปด้วย ภายใต้สมมุติฐานนี้ สามารถสรุปได้ชัดเจนในระดับหนึ่งว่า เมื่อใดก็ตามที่สงครามการค้าระเบิดตูมตามขึ้นมา เอเชียมีหวังได้รับผลกระทบทางลบจากสถานการณ์หนักหนาสาหัสกว่าที่อื่น ๆ
แต่ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ยืนยันเช่นกันว่า ใช่ว่าประเทศในเอเชียเหล่านี้จะได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด ตรงกันข้าม สำหรับบางประเทศ ไม่เพียงได้รับผลกระทบไม่มากนักเท่านั้น ยังมีแนวโน้มที่จะพลิกฟื้นวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตของตนเองได้อีกด้วย
อานิสงส์อีกประการสำหรับประเทศที่มีโอกาสเหล่านี้ก็คือ การที่สินค้าชนิดเดียวกันจากจีนถูกตั้งกำแพงภาษีสูง ทำให้สินค้าที่ผลิตในประเทศตนเองสามารถแข่งขันกับสินค้าของจีนได้ และเข้าไปแทนที่สินค้าจีนในตลาดสหรัฐอเมริกาได้ในที่สุด
เหตุการณ์ที่เป็นกรณีศึกษาก็คือ สถานการณ์เมื่อปี 2012 เมื่อสหรัฐประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเครื่องซักผ้าจากเม็กซิโกและเกาหลีใต้เพื่อป้องกันการผูกขาด ผู้ผลิตเกาหลีใต้แก้ปัญหาด้วยการโยกฐานการผลิตไปจีน ต่อมาในปี 2016 เมื่อมีการขึ้นภาษีอีกรอบที่พุ่งเป้าไปที่จีน ก็โยกฐานการผลิตอีกครั้ง คราวนี้ไปยังไทยและเวียดนาม ประเทศที่อยู่ในโครงข่ายการผลิตหรือเป็นห่วงโซ่การผลิตอยู่ก่อนแล้ว เพียงปรับเปลี่ยนจากการผลิตชิ้นส่วนให้กลายเป็นการผลิตสินค้าสำเร็จรูปแทน
ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศ สามารถได้รับโอกาสทำนองเดียวกันภายใต้บริบทสงครามการค้าได้ เพียงเตรียมความพร้อมปรับเปลี่ยนการผลิตของตนเองให้เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก
ผลสำรวจของธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) เมื่อปี 2023 พบว่า ราว 60% ของบริษัทที่มีฐานการผลิตอยู่ในจีน เป็นกังวลเรื่องความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา และเตรียมพร้อมที่จะย้ายฐานการผลิตออกมานอกประเทศจีน หากสงครามการค้าระเบิดขึ้น
ผลสำรวจเดียวกันระบุว่า บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่เลือกประเทศอย่าง เวียดนาม เป็นอันดับหนึ่ง ส่วนตัวเลือกถัดมาคือ ฟิลิปปินส์
เหตุผลสำคัญในการเลือกเช่นนั้น นอกเหนือจากคุณภาพในการผลิต คุณภาพของซัพพลายเออร์และความสัมพันธ์แต่เดิมแล้ว ก็คือ เสถียรภาพทางการเมืองและการบังคับใช้กฎหมาย และสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการทำธุรกิจ
ประเทศไหนที่สร้างความเข้มแข็งให้กับปัจจัยเหล่านี้ได้ ก็สามารถฉวยโอกาสที่เกิดขึ้นได้ ไม่มากก็น้อยเช่นกัน