OPEC+ ขยายเวลาลดการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจเป็นครั้งที่ 3 และขยายเวลาลดการผลิตน้ำมันจนถึงสิ้นปี 2026 แต่นักวิเคราะห์มองราคาน้ำมันในปี 2025 ยังร่วงได้อีก แม้กลุ่ม OPEC+ จะไม่ได้ผลิตน้ำมันเพิ่มก็ตาม
บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานในวันที่ 5 ธันวาคม 2024 ว่า กลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) ซึ่งประกอบด้วย 14 ประเทศสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งออกปิโตรเลียม (OPEC) และประเทศนอกกลุ่มสมาชิกอีก 10 ประเทศ มีมติเลื่อนแผนผ่อนคลายข้อตกลงลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งเดิมมีกำหนดเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน 180,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนมกราคม แต่เปลี่ยนเป็นเดือนเมษายนแทน
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ได้รับสิทธิให้สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตพิเศษได้อีก 300,000 บาร์เรลต่อวัน แต่โควตาดังกล่าวจะถูกเลื่อนออกไปจนกว่าจะถึงเดือนเมษายนเช่นกัน เป็นเมษายน 2025 จนถึงเดือนกันยายน 2026
แฮร์รี ทชิลิงกูเรียน (Harry Tchilingurian) หัวหน้าหน่วยวิจัยและวิเคราะห์น้ำมันที่โอนิกซ์ คอมโมดิตีส์ จำกัด (Onyx Commodities Ltd.) กล่าวว่า กลุ่มโอเปกซื้อเวลาให้ตัวเอง อย่างไรก็ตาม ราคาไม่เคยรอใคร ถ้าแนวโน้มของปริมาณความต้องการน้ำมันลดลงอีก การปรับลดการผลิตน้ำมันในปัจจุบันจะมีผลตอบแทนน้อยลง ราคาน้ำมันอาจร่วงไปอยู่ราว 60 ดอลลาร์ (ราว 2,000 บาท) ต่อบาร์เรล
กลุ่มโอเปกพลัสขยายเวลาลดการผลิตครั้งแรกในเดือนมิถุนายน หลังจากที่มีการลดกำลังการผลิตลงหลายครั้งนับตั้งแต่ปลายปี 2022 เป็นต้นมา ที่โอเปกพลัสต้องเลื่อนแผนยุติมาตรการลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันออกไป เป็นเพราะอุปสงค์น้ำมันจากลูกค้ารายใหญ่อย่างจีนลดลง ขณะที่สหรัฐ บราซิล และแคนาดาผลิตน้ำมันมากขึ้น
ซึ่งองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) รายงานว่าตลาดน้ำมันทั่วโลกจะเผชิญอุปทานล้นเกินในปี 2025 แม้กลุ่มโอเปกจะไม่ได้ผลิตน้ำมันเพิ่มแม้แต่บาร์เรลเดียวก็ตาม สอดคล้องกับคาดการณ์ของซิตี้กรุ๊ป อิงก์ (Citigroup Inc.) และเจพีมอร์แกนเชสแอนด์โค (JPMorgan Chase & Co.)
ข้อตกลงในวันที่ 5 ธันวาคมทำให้ประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปกพลัสต้องลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจไปจนถึงเดือนกันยายน 2026 นานกว่าแผนเดิมถึงหนึ่งปีเต็ม และจะขยายเวลาลดการผลิตออกไปอีกหนึ่งปีจนถึงปลายปี 2026 เช่นกัน
นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ราคาน้ำมันตกลงแล้วกว่า 18% เนื่องจากผู้ค้าไม่ให้ความสำคัญกับความวุ่นวายในตะวันออกกลาง และมุ่งความสนใจไปยังเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวและเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจหลายประการแทน
สมาชิกหลายแห่งต้องเผชิญกับความยากลำบากทางการเงินจากการลดกำลังการผลิต ทั้งซาอุดีอาระเบียที่ต้องลดการใช้จ่ายในแผนปฏิรูปเศรษฐกิจลง และวลาดิมีร์ ปูติน ที่ต้องการหารายได้มาทำสงครามกับยูเครน
การขยายเวลาลดการผลิตน้ำมันช่วยให้กลุ่มโอเปกพลัสมีเวลาคำนวณผลกระทบของโดนัลด์ ทรัมป์ 2.0 ที่ส่งสัญญาณว่าจะเพิ่มแรงกดดันต่อน้ำมันนำเข้าจากอิหร่าน แบบเดียวกับที่เคยทำในวาระแรก เพื่อยับยั้งโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของรัฐบาลอิหร่าน
ในทางกลับกัน ทรัมป์ยังขู่เกี่ยวกับการขึ้นกำแพงภาษีเพื่อลงโทษประเทศต่าง ๆ เช่น จีน ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อรัฐบาลจีน ในด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการบริโภคพลังงานเพิ่มเติม
ทั้งนี้ กลุ่มโอเปกพลัสจะประชุมอีกครั้งในวันที่ 28 พฤษภาคม 2025