ห้วงเวลาเดียวกันเมื่อต้นสัปดาห์ มีความปั่นป่วนทางการเมืองเกิดขึ้นในสองประเทศ ซึ่งเป็นข่าวดังทั้งคู่ ประเทศหนึ่งคือเกาหลีใต้ อีกประเทศคือฝรั่งเศส โดยเหตุการณ์ของเกาหลีใต้สร้างความตกตะลึงมากกว่า เพราะมีการประกาศกฎอัยการศึกอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ถึงอย่างนั้นก็ตาม ทั้งสองเรื่องราวความปั่นป่วนนี้ก็ฉายให้เห็นภาพการออกแบบกลไกที่ดีเพื่อความตั้งมั่นของประชาธิปไตยในทั้งสองประเทศได้เป็นอย่างดี
ประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล (Yoon Suk-Yeol) ของเกาหลีใต้ ประกาศกฎอัยการศึกเมื่อคืนวันที่ 3 ธันวาคม ด้วยเหตุผลที่แสนจะคลุมเครือ โดยบอกว่า ประกาศกฎอัยการศึกเพื่อปกป้องเกาหลีใต้ให้ปลอดจากภัยคุกคามของกองกำลังคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ และเพื่อกำจัดกองกำลังต่อต้านรัฐ ซึ่งสนับสนุนเกาหลีเหนือที่กำลังปล้นเสรีภาพและความสุขของประชาชนเกาหลีใต้
บรรดานักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญมองว่า ไม่สมเหตุสมผลด้วยประกาศทั้งปวง และวิเคราะห์กันว่า การที่ยุนเลือกทางนี้ หากไม่ใช่เพราะเขาคำนวณพลาดจริง ๆ ด้วยความอ่อนด้อยประสบการณ์ทางการเมือง ก็คงเป็นการเจตนาหาทางลง โดยมีอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลัง หรือมีคนชี้ทางลงแบบแย่ ๆ นี้ให้
ปัญหาที่รัฐบาล ยุน ซอกยอล เผชิญอยู่นั้น คือ ด้วยความเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยทำให้ผ่านร่างกฎหมายลำบาก และสภานิติบัญญัติของเกาหลีใต้ซึ่งเป็นสภาเดี่ยวเพิ่งจะคว่ำร่างงบประมาณที่รัฐบาลเสนอไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ นั่นเป็นที่มาของการที่ยุนกล่าวว่า ฝ่ายค้านใช้กระบวนการทางรัฐสภาตัดแขนตัดขารัฐบาลให้ทำงานไม่ได้ ซึ่งจะเป็นการนำประเทศเข้าสู่วิกฤต
ผิดพลาดหรือตั้งใจ เจตนาที่แท้จริงคืออะไร นั่นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ที่สำคัญ คือ ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังการประกาศกฎอัยการศึก สมาชิกสภานิติบัญญัติของเกาหลีใต้ได้บุกเข้าไปประชุมในรัฐสภา เพื่อลงมติให้ยกเลิกกฎอัยการศึก ส่งผลให้กฎอัยการศึกที่ยุนประกาศนั้นต้องยกเลิกไปในเวลาที่สั้นมาก ๆ
หลังจากนั้น ประชาชนได้เรียกร้องให้ประธานาธิบดีลาออกจากตำแหน่ง ด้านฝ่ายค้านก็ออกมาเรียกร้องให้ยุนลาออกจากตำแหน่ง และได้เสนอญัตติลงมติถอดถอนประธานาธิบดี
เรื่องราวความปันป่วนทางการเมืองที่เกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็วของเกาหลีใต้ เป็นไปได้เพราะมีกลไกการถ่วงดุลอำนาจที่ออกแบบเอาไว้อย่างดี เพราะถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญจะให้อำนาจประธานาธิบดีออกกฎอัยการศึกเพื่อการบริหารประเทศในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวาน แต่รัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้ว่า กฎอัยการศึกต้องยกเลิกเมื่อเสียงข้างมากในสภามีมติให้ยกเลิก
ส่วนกรณีของฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรี มิเชล บาร์นิเยร์ (Michel Barnier) ของฝรั่งเศสถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม แล้วการลงมติจบลงด้วยผล “ไม่ไว้วางใจ” ส่งผลให้นายกฯต้องหลุดจากตำแหน่งและรัฐบาลต้องล่มไป ซึ่งนับเป็นการไม่ไว้วางใจนายกฯครั้งแรกในรอบ 62 ปีของฝรั่งเศส
เหตุที่บาร์นิเยร์ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น เพราะเขาใช้อำนาจตามมาตรา 49.3 ของรัฐธรรมนูญเพื่อผ่านร่างงบประมาณระบบประกันสังคมโดยไม่ต้องผ่านการอนุมัติของรัฐสภา ซึ่งเป็นกลไกที่มาตรา 49.3 ของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสอนุญาตให้รัฐบาลทำได้ แต่ในทางกลับกัน มาตรา 49.3 ของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ก็ให้โอกาสสมาชิกรัฐสภาโต้แย้งการตัดสินใจของรัฐบาล โดยเสนอญัตติไม่ไว้วางใจภายใน 24 ชั่วโมง และลงมติภายใน 48 ชั่วโมง
จะเห็นว่าตัวละครในสองเรื่องนี้ใช้กลไกตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่มีการเล่นนอกเกม ซึ่งนั่นก็นำมาซึ่งความชื่นชมในแง่ของการเคารพกฎกติกา
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดในทั้งสองเรื่องนี้ก็คือ การมีกฎกติกา-มีกลไกที่ดี แม้รัฐธรรมนูญของทั้งสองประเทศได้ให้อำนาจพิเศษแก่ผู้บริหารประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็ได้มอบเครื่องมือถ่วงดุลอำนาจที่ใช้งานง่ายให้แก่สมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้ใช้อำนาจโดยตรวจสอบคัดคานยาก