องค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและพันธมิตร หรือ OPEC+ ใช้มาตรการลดกำลังการผลิตน้ำมันมาแล้ว 2 ปี และในการประชุมล่าสุดมีมติขยายมาตรการลดกำลังการผลิตออกไปจนถึงสิ้นปี 2026 และเลื่อนแผนเริ่มทยอยฟื้นคืนการผลิตที่ลดลงโดยสมัครใจซึ่งกำหนดเดิมจะเริ่มเดือนมกราคม 2025 ออกไปเริ่มในเดือนเมษายน 2025 หวังช่วยดันราคาน้ำมันให้สูงขึ้น
ถึงแม้พยายามขนาดนั้นแล้ว สิ่งที่ทำมาก็ไม่ได้ช่วยให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ซ้ำยังจะนำไปสู่การสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้คู่แข่งด้วย
ธนาคารแบงก์ออฟอเมริกา (BoA) เปิดเผยบทวิเคราะห์ออกมาเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2024 หลังทราบการประชุม OPEC+ นัดสุดท้ายของปีนี้เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2024 ว่า ความพยายามของ OPEC+ ในการที่จะหนุนราคาน้ำมันโดยการลดกำลังการผลิต ไม่น่าจะได้ผลลัพธ์ดีดังต้องการ เพราะการที่ OPEC+ ลดอุปทานน้ำมันในตลาดโลกนั้นมีความหมายว่า ต้องสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้ผู้ผลิตจากประเทศอื่นนอกกลุ่ม OPEC+ รวมถึงสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่
นักวิเคราะห์ของ BoA คาดการณ์ว่า การเพิ่มขึ้นของอุปทานน้ำมันจากนอกกลุ่ม OPEC+ จะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 75% ของอุปทานน้ำมันที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกภายในปี 2030 หรือพูดในทางกลับกันได้ว่า จะมีการใช้กำลังการผลิตน้ำมันสำรอง (Spare Capacity) ของ OPEC+ ประมาณ 20% เท่านั้น
สำหรับปี 2025 ทีมนักวิเคราะห์ของ BoA คาดว่า อุปทานน้ำมันในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน และในปี 2026 จะเพิ่มขึ้นอีก 800,000 บาร์เรลต่อวัน โดยคาดว่าอุปทานที่เพิ่มขึ้นในปี 2025 จะมาจาก OPEC+ ประมาณ 300,000 บาร์เรลต่อวัน และจะมาจากนอกกลุ่ม OPEC+ ในสัดส่วนที่สูงกว่ามาก ทั้งสหรัฐ บราซิล อายอานา อาร์เจนตินา และแคนาดา
นักวิเคราะห์ของ BoA กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ราคาน้ำมันลดลง คือ อุปสงค์หรือความต้องการใช้น้ำมันที่ฟื้นตัวช้า และจุดอ่อนนี้ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากอุปสงค์ที่ซบเซาในประเทศจีนและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ยังไม่น่าจะดีขึ้นได้ภายในปี 2025
ในเวลาเดียวกัน ประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่ไม่ใช่สมาชิกกลุ่ม OPEC+ ก็กลายเป็นหนามทิ่มแทงกลุ่ม OPEC+ เนื่องจากมีการผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐที่ผลิตน้ำมันมากเป็นประวัติการณ์ในปีนี้
นอกจากนั้น สิ่งที่เพิ่มความท้าทายให้แก่การบรรลุเป้าหมายของ OPEC+ ก็คือปัญหาภายในกลุ่มเอง โดยสมาชิกบางประเทศไม่ได้ปฏิบัติตามนโยบายของกลุ่มอย่างเคร่งครัด เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลงส่งผลให้การขาดดุลทางการคลังในประเทศสมาชิก OPEC+ เพิ่มขึ้น บางประเทศจึงมีการผลิตน้ำมันเกินโควตาที่ตกลงกันไว้ ซึ่งอาจส่งผลให้ประเทศที่ผลิตตามโควตาเดือดร้อน
ทั้งนี้ ขณะที่ต้องการเพิ่มเสถียรภาพของราคาน้ำมัน แต่ส่วนแบ่งการตลาดก็เป็นสิ่งที่กลุ่ม OPEC+ ให้ความสำคัญเช่นกัน นั่นทำให้มีการเก็งกำไรกันมากขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่ม OPEC+ กำลังวางแผนที่จะฟื้นคืนอุปทานน้ำมัน เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดเอาไว้
อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมล่าสุดก็แสดงให้เห็นแล้วว่า OPEC+ ยังไม่กล้าเพิ่มอุปทานน้ำมันท่ามกลางภาวะที่อุปสงค์ยังคงอ่อนแอ