เงินเฟ้อสหรัฐเร่งตัวขึ้นอีก ตลาดเพิ่มน้ำหนักเฟดไม่ลดดอกเบี้ยเดือนมกราคม

เงินเฟ้อสหรัฐ ค้าปลีกสหรัฐ
เอาต์เล็ตมอลในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ ติดป้ายลดล้างสต๊อก/ บันทึกภาพเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2024 (ภาพโดย Frederic J. BROWN / AFP)

เงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐเดือนพฤศจิกายน 2.7% เร่งตัวขึ้นจากเดือนตุลาคม และ CPI เพิ่ม 0.3% จากเดือนก่อนหน้า (MOM) สูงสุดในรอบ 7 เดือน ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน 3.3% เท่าเดือนตุลาคมและกันยายน ตลาดเพิ่มน้ำหนักคาดการณ์เฟดจะลดดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนธันวาคมนี้แล้วไม่ลดในเดือนมกราคม 2025

วันที่ 11 ธันวาคม 2024 เวลา 08.30 น. ตามเวลากรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ซึ่งตรงกับเวลา 20.30 น. เวลาไทย สำนักงานสถิติแรงงาน กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนพฤศจิกายน 2024 ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อ และเป็นหนึ่งในข้อมูลสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด (Federal Reserve) 

ข้อมูลที่เผยแพร่ออกมาระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนพฤศจิกายน 2024 เพิ่มขึ้น 2.7% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) ซึ่งหมายถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.7% จากอัตราของเดือนตุลาคมซึ่งอยู่ที่ 2.6% 

และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MOM) ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนพฤศจิกายน 2024 เพิ่มขึ้น 0.3% เร่งตัวขึ้นจากเดือนตุลาคมที่เพิ่ม 0.2% จากเดือนกันยายน 

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานในเดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้น 3.3% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) หมายถึงอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 3.3% คงที่เท่ากันกับอัตราของเดือนตุลาคมและกันยายน  

และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MOM) ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้น 0.3% คงที่ที่ระดับเดิมเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน 

ADVERTISMENT

หมวดสินค้าที่ราคา/ค่าบริการเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า คือ ค่าบริการขนส่งและการเดินทางที่เพิ่มขึ้น 7.1 (YOY) รองลงมาคือค่าที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น 4.7% (YOY)

หมวดสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MOM) คือ รถยนต์และรถบรรทุกมือสองที่เพิ่มขึ้น 2.0% (MOM)

ADVERTISMENT

หมวดสินค้าที่มีน้ำหนักในการทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามากที่สุด คือ ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น 0.3% ซึ่งมีส่วน 40% ในการทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคในภาพรวมเพิ่มขึ้น

อัตราเงินเฟ้อที่ออกมานี้ ตรงกับคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์และตลาด และส่งผลให้ตลาดปรับเพิ่มน้ำหนักคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะลดดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งสุดท้ายของปี 2024 ในวันที่ 17-18 ธันวาคมนี้ โดย แล้วจะไม่ลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งแรกของปี 2025 ในวันที่ 25-26 มกราคม 

จากการที่ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจสืบค้นในเฟดวอตช์ทูล (FedWatch Tool) ของซีเอ็มอีกรุ๊ป (CME Group) พบว่า ณ เวลา 08.31 น. (เวลา ดี.ซี.สหรัฐ หรือ 20.31 น. เวลาไทย) วันที่ 11 ธันวาคม ตลาดให้น้ำหนัก 76.7% ที่เฟดจะลดดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนธันวาคมนี้แล้วคงดอกเบี้ยในการประชุมในเดือนมกราคม 2025 และอีก 20.2% คาดว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยทั้งในเดือนธันวาคมและมกราคม ครั้งละ 0.25% 

น้ำหนักคาดการณ์เปลี่ยนแปลงจากวันก่อนหน้า (10 ธันวาคม) ที่ตลาดให้น้ำหนัก 72.3% ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนธันวาคมนี้แล้วจะคงดอกเบี้ยในการประชุมในเดือนมกราคม 2025 และ 19.0% คาดว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยทั้งในเดือนธันวาคมและมกราคม ครั้งละ 0.25%