เวิลด์แบงก์ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจพม่า ปีนี้หดตัว 1% น้ำท่วม สู้รบฉุดอย่างแรง

(ภาพ รอยเตอร์)

รายงานจากธนาคารโลก (World Bank) ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจเมียนมา โดยคาดว่าเศรษฐกิจเมียนมาจะหดตัวในปีงบประมาณนี้ 1% จาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ น้ำท่วมและการสู้รบอย่างหนัก หลังเกือบ 4 ปีแล้วที่กองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยออง ซาน ซู จี (Aung San Suu Kyi) 

การปรับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจเมียนมาล่าสุดเกิดขึ้นหลังจากในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของเมียนมาจะโต 1% ในปีงบประมาณปัจจุบัน ซึ่งสิ้นสุดใน มี.ค. 2025 แต่เตือนว่าความยากจนจะเพิ่มมากขึ้นและความรุนแรงจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

รายงานที่เผยแพร่เมื่อ 11 ธันวาคมที่ผ่านมาระบุว่า อาคารบ้านเรือนราว 1 ใน 5 และถนน 1 ใน 10 ของประเทศเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมเป็นวงกว้างจากฝนตกหนักในฤดูมรสุมรวมถึงไต้ฝุ่นยางิที่พัดถล่มทั่วประเทศในเดือนกันยายนส่งผลให้ประชาชนราว 2 ล้านคนต้องไร้ที่อยู่ ซึ่งรอยเตอร์ (Reuters) รายงานอ้างอิงจากสื่อทางการว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 200 ราย

ในขณะเดียวกันการสู้รบระหว่างกองทัพและกองกำลังฝ่ายต่อต้านยังคงรุนแรงในบางพื้นที่ของประเทศ ทำให้การเกษตรและการผลิตหยุดชะงักลง

เอพี (AP) รายงานว่า ด้วยระดับและความเข้มข้นของความขัดแย้งยังคงสูง ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อหลายชีวิตรวมถึงวิถีชีวิต ทำให้การผลิตและซัพพลายเชนหยุดชะงักงัน และทำให้การคาดการณ์เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง

ในภาพรวม เศรษฐกิจเมียนมาจะมีแนวโน้มหดตัว 1% ในปีงบประมาณปัจจุบันที่ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ เม.ย. ปี 2024 ไปถึง มี.ค. 2025

ADVERTISMENT

สหประชาชาติ (UN) ประมาณว่ามีประชาชนราว 3.5 ล้านคน หรือราว 6% ของประชากรทั้งหมดต้องไร้ที่อยู่ ซึ่งมีหน่วยการปกครองระดับตำบลมากกว่าครึ่งของประเทศต้องอยู่ในความขัดแย้ง รวมถึงทำให้งานก่อสร้างโครงการใหญ่ต่าง ๆ ต้องล่าช้าออกไป

เมื่อเร็ว ๆ นี้ จูลี บิชอป (Julie Bishop) ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติในประเด็นเมียนมาเตือนว่าเมียนมาอยู่ในวิกฤต ความขัดแย้งที่ยกระดับขึ้น เครือข่ายอาชญากรรมที่อยู่เหนือการควบคุมและประชาชนทุกข์ยากในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ADVERTISMENT

รายงานของธนาคารโลกระบุว่า นอกจากปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว การหยุดชะงักงันจากความขัดแย้งยังส่งผลให้ค่าเงินจ๊าตลดลง 40% เมื่อเทียบกับดอลลาร์จากการค้าขายนอกระบบในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้

ธนาคารโลกระบุอีกว่า ประชากรเมียนมาราว 25% กำลังประสบปัญหาขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและการขาดแคลนอุปทานที่เลวร้ายลงจากผลของสงคราม ขณะที่ราคาอาหารเพิ่มขึ้นมากกว่า 60% ระหว่าง เม.ย-ก.ย.ที่ผ่านมา และธนาคารโลกคาดว่าอัตราเฉลี่ยเงินเฟ้อรายปีจะคงอยู่ที่ 26% ในปีงบประมาณนี้ ซึ่งต่ำกว่าตัวเลข 27.5% ในปีงบประมาณ 2023-2024 เล็กน้อย

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ราว 1 ใน 5 ของระดับก่อนการเกิดโควิด-19 สองระลอกและการที่กองทัพเข้าควบคุมสถานการณ์ ภาคการผลิตก็อ่อนแอลงเนื่องจากไฟฟ้าดับจนทำให้การผลิตหยุดชะงัก

รายงานธนาคารโลกระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมาหยุดเผยแพร่ข้อมูลการค้าในช่วงกลางปีนี้ แต่การวิเคราะห์ข้อมูลจากหุ้นส่วนการค้าแสดงให้เห็นว่าการส่งออกเครื่องนุ่งห่มและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนขนาดใหญ่ของการส่งออกทั้งหมด ลดลงมากกว่า 11% ในเดือน เม.ย.-ก.ย.เมื่อเทียบกับปีก่อน

รายงานดังกล่าวประเมินแนวโน้มด้วยว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลงไปอีกหากการสู้รบทวีความรุนแรงมากขึ้น