1 ปี คว่ำบาตร “กาตาร์” ยิ่งโดนบล็อก-ยิ่งแข็งแกร่ง

ครบรอบ 1 ปีแล้ว หลังจากที่ “กาตาร์” ถูกปิดล้อมประเทศจาก 5 ชาติอาหรับ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน เยเมน และอียิปต์ แม้เศรษฐกิจบางส่วนได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ทว่านักวิเคราะห์กลับมองว่ากาตาร์กลายเป็นประเทศที่ “เข้มแข็ง” มากขึ้นกว่าเดิม

นับจากวันที่ 5 มิ.ย. 2017 การผนึกกำลังทั้ง 5 ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ ด้วยข้อกล่าวหาว่า รัฐบาลให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายและบ่อนทำลายเสถียรภาพในภูมิภาคตะวันออกกลาง

เลวร้ายที่สุดคือ การใช้มาตรการปิดกั้นทางเศรษฐกิจกับกาตาร์ สั่งห้ามไม่ให้ผู้คนเดินทางไปมาหาสู่กัน รวมถึงการตัดท่อน้ำเลี้ยงไม่ให้มีการขนส่งสินค้าให้กับกาตาร์ในทุกช่องทาง ทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ เพื่อปิดกั้นไม่ให้กาตาร์สามารถส่งออกก๊าซธรรมชาติได้ราบรื่นเหมือนเคย ซึ่งแน่นอนว่ากระทบต่อความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศนับจากนั้น

“อัลจาซีรา” สื่อใหญ่ของกาตาร์รายงานว่า ช่วงเวลาแห่งการคว่ำบาตรผ่านไป 1 ปี ปัจจุบันกาตาร์กลับมีความแข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดย นายอาลี ชารีฟอัล อิมาดี รัฐมนตรีคลังของกาตาร์ กล่าวว่า “การปิดล้อม หรือที่บางสื่อเรียกว่าการคว่ำบาตร ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของกาตาร์อย่างที่บางประเทศคาดหมาย ทางการกาตาร์ยังสามารถนำเข้าอาหารและสินค้าอุปโภคและบริโภคอื่น ๆ ได้จากหลายแหล่ง มีพันธมิตรทางการค้าที่แน่นแฟ้นมากขึ้น เช่น บราซิล ออสเตรเลีย ตุรกี อิหร่าน โอมาน และอินเดีย ขณะที่เราก็ส่งออกสินค้าไปยังคู่ค้าได้มากขึ้น”

ขณะเดียวกัน นายโนบุฮิซะ เดงาวะ นักวิเคราะห์อาวุโสของสำนักข่าว NHK กล่าวว่า กาตาร์ถือเป็นประเทศที่ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งญี่ปุ่นก็ยังคงนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวในปริมาณมากจากกาตาร์เช่นเคย แม้ว่ายังเกิดความตึงเครียดในตะวันออกกลาง

พร้อมระบุว่า การปิดกั้นทางเศรษฐกิจจาก 5 ประเทศนั้น ส่งผลร้ายแรงต่อความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศในอ่าวอาหรับเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจของกาตาร์แต่อย่างใด ความสามารถในการส่งออกก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบยังคงอยู่ในระดับที่ดีเหมือนเดิม ยิ่งสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่ราคาพลังงานในตลาดโลกนั้นเพิ่มสูงขึ้นก็มีส่วนช่วยกาตาร์ด้วย

นักวิเคราะห์คาดว่า แผนการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันยังคงเหมือนเดิม เป้าหมายจะเพิ่มขึ้นจาก 77 ล้านตัน เป็น 100 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2024 จะทำให้เศรษฐกิจของกาตาร์มีเสถียรภาพยิ่งขึ้น

นอกจากนี้กาตาร์ยังยืนยันว่า ข้อตกลงการซื้อขายระหว่าง “รัสเซีย” เช่น การซื้อระบบขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศ S-400 ยังคงเหมือนเดิม ทั้งได้แสดงความประสงค์ต้องการซื้อเทคโนโลยีสำหรับกองกำลังภาคพื้นดินให้กาตาร์ด้วย

“ซาลี บิน ฮาเหม็ด อัล ชาร์กี” ประธานหอการค้ากาตาร์ แถลงตัวเลขการส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ระบุว่า ตัวเลขการส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันของเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกาตาร์ส่งออกสินค้าไปกว่า 53 ประเทศทั่วโลก ดังนั้นการถูกปิดล้อมจาก5 ประเทศไม่ได้กระทบในด้านนี้

อย่างไรก็ตาม “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” กลายเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งสายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ ผู้ให้บริการเบอร์ต้น ๆ ของโลก ได้รับความสูญเสียมากที่สุด เพราะเส้นทางการบินหลักเน้นการเชื่อมโยงกับ 18 เมือง ใน4 ประเทศอ่าวเปอร์เซีย (ยกเว้นอียิปต์) อีกทั้งนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ในโดฮาก็คือประชาชนชาวอาหรับทั้งนี้ เดือน มี.ค.ที่ผ่านมาสายการบินกาตาร์ระบุในงานนิทรรศการ ITB Berlin หนึ่งในงานแสดงสินค้าท่องเที่ยวใหญ่ที่สุดของโลก ถึงแผนการเปิดเส้นทางบินใหม่ประจำปี 2018-2019 กว่า 14 จุดหมายปลายทาง เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของกาตาร์สู่ชาวโลกมากขึ้น


ทั้งยังชดเชยเส้นทางเดิม ๆ ที่สูญเสียไป อาทิ เมืองคาร์ดิฟฟ์ สหราชอาณาจักร, ลอนดอนแกตวิค อังกฤษ, ทาลลินน์ เอสโตเนีย, มาลากา สเปน, อันตาเลียตุรกี, ดานัง เวียดนาม และเซบู ฟิลิปปินส์ เป็นต้น