“แจ็ก หม่า” ฝันไกล ขยายเน็ตเวิร์ก “โลจิสติกส์” ทั่วโลก

CRภาพ:technode.com

เมื่อสัปดาห์ก่อน การปรากฏตัวของ “แจ็ก หม่า” ซีอีโอแห่งอาลีบาบา เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซใหญ่ที่สุดในจีน บนเวทีสัมมนา Global Smart Logistics Summit ที่จัดโดย “ไช่เหนี่ยว” (Cainiao) ธุรกิจโลจิสติกส์ในเครืออาลีบาบา ถือเป็นทั้งเซอร์ไพรส์ต่อผู้ชม ทั้งอาจเป็นการเปลี่ยนระบบโลจิสติกส์โลกไปตลอดกาล

เพราะหม่ารู้ดีว่า “โลจิสติกส์” เป็นดั่งกระดูกสันหลังของธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ ที่ลูกค้านั่งสบายเลือกซื้อของอยู่กับบ้าน และรอสินค้าไปส่งถึงหน้าบ้าน เพราะหากสินค้าราคาดี แต่ขนส่งไม่ดีก็จบเห่

หม่าเห็นโอกาสว่าควรจะทำธุรกิจโลจิสติกส์เองในปี 2013 แม้ว่าในตอนแรกเขาไม่ยอมที่จะสร้างกิจการขนส่งขึ้นมา เพราะเชื่อว่ามีพันธมิตรที่ดีอยู่แล้ว จวบจนปัจจุบันไช่เหนี่ยวเติบโตถึงขั้นส่งสินค้าได้วันละ 130 ล้านชิ้น

ส่งสินค้าทั่วโลกภายใน 3 วัน

และบนเวทีนี้เขาวาดฝันครั้งใหม่ว่า อาลีบาบาจะลงทุนกับไช่เหนี่ยวอีกกว่าแสนล้านหยวน และถ้าไม่พอที่จะดันแพลตฟอร์มไปถึงเป้าหมาย ก็ยินดีที่จะใส่เพิ่มไปอีกหลายแสน เพื่อบรรลุเป้าหมายแรก นั่นคือการขนส่งสินค้า 30,000 ล้านชิ้นต่อวันภายใน 24 ชั่วโมงในพื้นที่ประเทศจีน และภายใน 72 ชั่วโมงทั่วโลก

หม่าบอกว่า “ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ การเติบโตตั้งอยู่บนรากฐานที่แข็งแรงของ “คนส่งของ” นับล้าน ๆ แต่ในอนาคตการเติบโตของโลจิสติกส์ จะโตด้วยแรงงานด้านหัวใจ” คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยทุ่นแรงของพนักงาน ซึ่งแจ็ก หม่า เคยบอกหลายครั้งว่า “เขาไม่เชื่อว่าหุ่นยนต์จะมาทำลายงาน แต่หุ่นยนต์นั่นแหละจะมาสร้างงานให้เพิ่มมากขึ้น”

ในปี 2015 ไช่เหนี่ยวได้เปิดตัวเอดูเคชั่น เทคโนโลยี แล็บ (ET Lab) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเกิดใหม่ ตลอดจนนำมาประยุกต์ใช้ในด้านโลจิสติกส์

ปัจจุบันไช่เหนี่ยวได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้วางระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ ที่ใช้หุ่นยนต์มาทำงานร่วมกับพนักงาน โดยพัสดุจะเคลื่อนย้ายโดย “หุ่นยนต์ลำเลียงอัตโนมัติ” (automatic guided vehicles) เพื่อส่งต่อให้สถานีถัดไป และนำจ่ายได้อย่างรวดเร็วขึ้น โดยคาดว่าจะทำให้พนักงานเดินน้อยลง 5 หมื่นก้าว/วัน

ขณะเดียวกัน ET Lab ก็ได้พัฒนารถขนบรรทุกส่งสินค้าไร้คนขับมาตั้งแต่ปีก่อน ทั้งสำหรับการขนส่งระยะทางไกล และสำหรับการขนส่งภายในเมือง

ภายหลังจากรถบรรทุกอัตโนมัติทำหน้าที่ตัวเองเสร็จสิ้น ก็จะเป็นหน้าที่ของหุ่นยนต์ส่งของ ซึ่งจะส่งสินค้าแบบ “last mile delivery” ไปจนถึงหน้าบ้านลูกค้า ทาง ET Lab ได้พัฒนาหุ่นยนต์ออกมา 2 ตัว คือ “Little G” ทำงานด้วยเซ็นเซอร์นำทางหลายตัว รวมถึงกล้องและระบบเอกซเรย์ ซึ่งได้นำมาใช้งานในอาลีบาบาแคมปัสแล้ว และอีกตัว “G Plus” จะทำงานได้แม่นยำกว่า ด้วยการนำทางจากแบบจำลอง 3 มิติ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองและคาดว่าจะนำมาใช้เชิงพาณิชย์ภายในปีนี้

“พันธมิตร” คือหัวใจสำคัญ

ไม่เพียงแต่การใช้ปัญญาประดิษฐ์เท่านั้น แต่ “พาร์ตเนอร์” นั้นล้ำค่าสำหรับความฝันของอาลีบาบา

“แจ็ก หม่า” กล่าวว่า “โครงข่ายต่าง ๆ ที่ก่อตั้งขึ้นโดยไช่เหนี่ยว ไม่ใช่ว่าจะเป็นของไช่เหนี่ยวเท่านั้น แต่เป็นของทุก ๆ บริษัทโลจิสติกส์ ซึ่งล้วนแต่เป็นพาร์ตเนอร์คนสำคัญของเรา และเราจะส่งมอบเทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์เพื่อทำให้พาร์ตเนอร์โลจิสติกส์ของเราแข็งแกร่งยิ่งขึ้น”

หม่าตั้งใจจะสร้างโครงข่ายโลจิสติกส์ ที่รวบรวมบริษัทขนส่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยไม่มีการแข่งขันระหว่างกัน โดยเมื่อราว 2 สัปดาห์ก่อน ไช่เหนี่ยวได้ร่วมลงทุนในบริษัทโลจิสติกส์อันดับ 1 ของจีนอย่าง “ZTO Express” แลกกับการถือหุ้นราว 10% ของบริษัท โดยทั้งคู่จะร่วมมือกันลึกซึ้งขึ้น ตั้งแต่การส่ง การจัดการระบบคลัง และเทคโนโลยี

ความฝันของอาลีบาบา ภายใต้การนำของแจ็ก หม่า คือ การขยายกิจการไปทั่วโลก ดังนั้น เน็ตเวิร์กโลจิสติกส์ไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงแค่ประเทศจีนแต่ต้องขยายไปทั่วโลก โดยตั้งใจจะขยายผ่านเส้นทาง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้น” เพรารู้ดีว่าความฝันการส่งสินค้า 30,000 ล้านชิ้นต่อวัน ที่ใครฟังแล้วก็ต้องอ้าปากค้าง ไม่สามารถบรรลุด้วยอาลีบาบาเพียงขาเดียวได้

“การค้าระดับโลกจะถูกเปลี่ยนด้วยระบบโลจิสติกส์ และจะเปลี่ยนจากการขนส่งแบบคอนเทนเนอร์ เป็นแค่พัสดุชิ้น ๆ จากการค้าระหว่างชาติ จะกลายเป็นการค้าระดับบริษัทต่อบริษัท เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เราต้องพร้อมตั้งแต่วันนี้” หม่ากล่าว

“JD” คู่แข่งสำคัญ

ตลาดอีคอมเมิร์ซที่ทุกคนยอมรับว่าจะเติบโตอีกมาก และคู่แข่งสำคัญของไช่เหนี่ยว ไม่ใช่ใครที่ไหนก็คือ JD.com ยักษ์ค้าปลีกออนไลน์ของจีน ที่เข้ามาจับมือกับ “เซ็นทรัล กรุ๊ป” ของไทยเตรียมพัฒนาแพลตฟอร์มขยายสู่อาเซียน

ขณะที่ไช่เหนี่ยวพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ และเน้นพัฒนาระบบขนส่ง last mile delivery คู่แข่งอย่าง JD เดิมพันการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของตัวเอง ด้วยการขนส่งรูปแบบรถยนต์ไร้คนขับและโดรน

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่มากกว่าของไช่เหนี่ยว คือแพลตฟอร์ม “เถาเป่า” (อีคอมเมิร์ซของอาลีบาบา) ซึ่งประกอบด้วยผู้ค้าปลีกนับล้าน ๆ ราย ดังนั้นการขนส่งของไช่เหนี่ยวที่รองรับแพลตฟอร์มเถาเป่า จึงซับซ้อนมากกว่า JD ที่ตั้งตัวเป็นมาร์เก็ตเพลซและมีระบบการขนส่งของตัวเอง

ยุทธศาสตร์ของไช่เหนี่ยวจึงอาจวางแผนได้ยากกว่า และต้องอัพเกรดใหม่ตลอด เพื่อรองรับดีมานด์ผู้ใช้งานให้ทัน แต่หากทำได้ ฝันการสยายปีกไปทั่วโลกของแจ็ก หม่า คงอยู่แค่เอื้อม