Digital Nomad รัสเซีย โอกาสขับเคลื่อนภาคท่องเที่ยวไทย

Digital Nomad
คอลัมน์ : นอกรอบ
ผู้เขียน : ธนา ตุลยกิจวัตร ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

ในยุคที่การทำงานระยะไกลกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลุ่มนักท่องเที่ยว Digital Nomad หรือกลุ่มคนที่ทำงานผ่านระบบออนไลน์จากที่ใดก็ได้ในโลก ได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่สำหรับเศรษฐกิจการท่องเที่ยว

สะท้อนได้จากจำนวนนักท่องเที่ยว Digital Nomad ทั่วโลกที่สูงขึ้นจาก 1.8 ล้านคนในปี 2560 เป็น 40 ล้านคนในปี 2567 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง Millennials และ Gen Z และนิยมทำงานในสายเทคโนโลยี เช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์ การตลาด และธุรกิจดิจิทัล เป็นต้น

ไทยถือเป็น 1 ในประเทศที่มีศักยภาพสูงในการดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าว สะท้อนจากการจัดอันดับจากเว็บไซต์ Nomad List ให้เป็นอันดับ 3 ของจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับ Digital Nomad รองจากสหรัฐ และสเปน

โดยมีปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริม ได้แก่ 1) ค่าครองชีพต่ำและความคุ้มค่า : ค่าครองชีพในไทยมีราคาโดยเฉลี่ยเพียง 36,900 บาทต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าหลายประเทศในตะวันตก 2) สิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบโจทย์ : เช่น Coworking Space อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และสถานที่พักอาศัยที่เหมาะสมกับการทำงาน 3) สถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย : ไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่ครอบคลุมทั้งธรรมชาติและวัฒนธรรม

รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการพักผ่อน 4) นโยบายวีซ่าที่เอื้ออำนวย : เช่น วีซ่าระยะยาว Destination Thailand Visa (DTV) ที่ช่วยให้นักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวสามารถพำนักในไทยได้ยาวนานขึ้น

Krungthai COMPASS ประเมินว่า Digital Nomad ชาวรัสเซียถือเป็นกลุ่มตลาดที่มีศักยภาพของไทย ด้วยเหตุผลหลัก 3 ประการ คือ

ADVERTISMENT

1) เป็นกลุ่มตลาดหลักของไทยและมีศักยภาพในการเติบโตสูง Digital Nomad ชาวรัสเซีย เป็นกลุ่มที่เดินทางมายังไทยสูงที่สุด โดยมีสัดส่วนถึง 16.2% ของ Digital Nomad ทั้งหมดที่เดินทางมายังประเทศไทย รองลงมาเป็นชาวเยอรมัน 15.7% ชาวอเมริกัน 12.7% ชาวอังกฤษ 9.9% ตามลำดับ

ซึ่งหากเราเปรียบเทียบการเติบโตของจำนวน Digital Nomad ที่เป็นตลาดหลักของประเทศไทยจะพบว่าจำนวน Digital Nomad รัสเซียมีการเติบโตสูงที่สุดเมื่อเทียบกับสัญชาติอื่น โดยในปี 2567 มีอัตราการเติบโตถึง 17.6% YOY และคาดว่าจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะถัดไป

ADVERTISMENT

2) มีการใช้จ่ายที่สูงกว่า Digital Nomad สัญชาติอื่น กลุ่ม Digital Nomad รัสเซีย มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยรวมสูงถึง 7.3 หมื่นบาท/คน/เดือน ซึ่งสูงกว่า Digital Nomad ชาวอเมริกันและชาวอังกฤษถึง 11.5-16.5% รวมถึงสูงกว่าชาวเยอรมันประมาณ 1.9%

ทั้งนี้ Digital Nomad รัสเซียมีลักษณะการใช้จ่ายที่แตกต่างจากกลุ่มอื่น โดยมักเลือกที่พักที่คุ้มค่า เช่น การเช่าอพาร์ตเมนต์ระยะยาว หรือโรงแรมราคาปานกลาง แต่กลับให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายในกิจกรรมประจำวัน เช่น อาหารคุณภาพสูง การเดินทาง และกิจกรรมทางวัฒนธรรม ซึ่งช่วยกระจายรายได้และสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่น

3) มีระยะเวลาพำนักในไทยนานกว่าสัญชาติอื่น Digital Nomad รัสเซียมีระยะเวลาพำนักในไทยเฉลี่ยถึง 282 วัน ซึ่งนานกว่า Digital Nomad ชาวเยอรมัน (251 วัน) ชาวอังกฤษ (164 วัน) และชาวอเมริกัน (130 วัน) โดยสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับ Digital Nomad รัสเซีย ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา

ทั้งนี้ กรุงเทพฯมีความโดดเด่นในฐานะศูนย์กลางธุรกิจและแหล่งสร้างเครือข่ายทางสังคม ขณะที่ภูเก็ตและพัทยามีชายหาดสวยงามและกิจกรรมทางน้ำที่ชาวรัสเซียชื่นชอบ เช่น การดำน้ำลึก การล่องเรือ และกีฬาทางน้ำ นอกจากนี้ เกาะสมุยและเกาะพะงัน ก็ได้รับความนิยมจากชาวรัสเซียที่มองหาความเงียบสงบควบคู่กับสภาพแวดล้อมที่สวยงาม

สำหรับแนวทางการพัฒนาที่ตอบรับกับกลุ่ม Digital Nomad รัสเซีย ผู้ประกอบการควรพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น Coworking Space โรงแรมที่รองรับการทำงาน และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง นอกจากนี้ ควรพัฒนาโปรแกรมและแพ็กเกจที่ดึงดูด Digital Nomad รัสเซีย เช่น การจัด Workshop สร้างเครือข่าย กิจกรรมทางวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น บริการสปาและโยคะ ขณะที่ภาครัฐควรส่งเสริมนโยบายด้านภาษีและการลงทุน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และจัดกิจกรรมที่เชื่อมโยงธุรกิจในท้องถิ่นกับนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าว

พร้อมส่งเสริมเครือข่ายธุรกิจที่สามารถดึงดูดนักลงทุนจากรัสเซียได้ นอกจากนี้ควรมีการจัดแคมเปญโปรโมตบนแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ได้รับความนิยมในรัสเซีย เช่น VK Telegram เป็นต้น

Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในปี 2573 จะมี Digital Nomad รัสเซียเดินทางมายังไทยถึงราว 8 หมื่นคน และมีโอกาสสร้างรายให้กับภาคการท่องเที่ยวไทยถึง 1.34 แสนล้านบาท ซึ่งการเติบโตของนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าว ไม่เพียงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังเสริมภาพลักษณ์ให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางชั้นนำระดับโลกอีกด้วย เราเชื่อมั่นว่าหากมีความร่วมมือและได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ไทยมีโอกาสที่จะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวไทยในอนาคตอย่างยั่งยืน