ฤา “ทรัมป์” จะลากเศรษฐกิจโลก ถอยหลังสู่ทศวรรษ 1930

Trump_1930
U.S. President-elect Donald Trump watches fireworks at Trump National Golf Club Washington DC in Sterling, Virginia, U.S., January 18, 2025. REUTERS/Carlos Barria
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

ความเอาแน่เอานอนไม่ได้ เปลี่ยนไปมา เป็นสิ่งที่ทุกคนรับรู้ล่วงหน้ามาแล้วสำหรับ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา เป็นลักษณะของผู้นำที่ตลาดและนักลงทุนไม่ชอบ เพราะปราศจากความแน่นอน แม้จะคุ้นเคยกันมาแล้วตั้งแต่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก แต่ทว่าก็ไม่ใช่เรื่องดีสำหรับโลกทั้งใบ ในฐานะที่สหรัฐอเมริกาคือมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก ที่ทุกย่างก้าวสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ว

ตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา พร้อมกับที่ทรัมป์ประกาศล่วงหน้าว่าจะจัดเก็บภาษีสินค้าต่างประเทศ หรือภาษีศุลกากรจากทุกประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศพันธมิตร ทำให้บรรดานักวิจารณ์ชี้ว่านโยบายของทรัมป์นั้น เป็นนโยบายที่ “ศัตรูรัก แต่พันธมิตรกลัว” เพราะการเล่นงานพันธมิตรก็ไม่ต่างจากการทำให้พันธมิตรอ่อนแอ และเสริมความแข็งแกร่งให้ศัตรู

ทรัมป์ย้ำให้เห็นรูปธรรมของนโยบาย “ศัตรูรัก พันธมิตรกลัว” เมื่อเขาลงนามเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เก็บภาษีสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างแคนาดาและเม็กซิโก 25% (ยกเว้นน้ำมันเก็บ 10%) กำหนดให้มีผลในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ โดยอ้างว่าเพื่อบังคับให้สองประเทศแก้ปัญหายาเฟนทานิล ซึ่งเป็นสารเสพติดประเภทหนึ่ง ไม่ให้ทะลักเข้ามาในสหรัฐอเมริกา ในขณะที่จีน ทรัมป์สั่งเก็บภาษีเพิ่ม 10%

แต่ไม่ถึง 48 ชั่วโมง พอถึงวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ ทรัมป์ก็เปลี่ยนใจเสียแล้ว โดยยอมเลื่อนการเก็บภาษีกับเม็กซิโกและแคนาดาออกไป 30 วัน อ้างว่าทั้งสองประเทศรับปากจะจัดส่งกำลังทหารมาประจำชายแดน เพื่อแก้ปัญหาทั้งเรื่องผู้ลักลอบอพยพข้ามแดนและยาเสพติดตามที่ทรัมป์ต้องการ

บลูมเบิร์กรายงานว่า “คลอเดีย เชนบอม” ประธานาธิบดีหญิงของเม็กซิโกทำได้ยอดเยี่ยมและคล่องแคล่วในการรับมือทรัมป์ ทั้งที่เข้ามาเป็นประธานาธิบดีได้เพียง 4 เดือน เพราะแค่โทรศัพท์คุยกับทรัมป์ครั้งเดียว เธอก็สามารถทำให้ทรัมป์ยอมเลื่อนการเก็บภาษี นั่นอาจเป็นเพราะความสามารถของเธอในการ “อ่าน” ทรัมป์ได้ทะลุ

ขณะเดียวกัน เธอก็ไม่ประกาศว่าเป็นชัยชนะของเม็กซิโก ปล่อยให้ทรัมป์เป็นฝ่ายได้หน้าไป

ADVERTISMENT

“พาเมลา สตาร์” อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย ชี้ว่า ดูเหมือนผู้นำของเม็กซิโกมีประสบการณ์พบเจอกับพวก Machista (พวกผู้ชายที่เชื่อว่าผู้หญิงเป็นฝ่ายด้อยกว่า) มาแล้วมากมายและรู้วิธีรับมือ ดังนั้น เธออาจยอมตอบสนอง “อีโก้” ของทรัมป์ ด้วยการปล่อยให้ทรัมป์เป็นฝ่ายอ้างชัยชนะเรื่องปัญหาชายแดนและจำนวนผู้อพยพที่ลดลง

นักวิเคราะห์มองว่า การที่เม็กซิโกจะส่งทหารนับหมื่นไปประจำชายแดนตามความต้องการของทรัมป์ อาจเป็นแค่การ “โชว์ออฟ” เพื่อทำให้ทรัมป์ได้หน้าในสายตาสื่อและสาธารณชนอเมริกัน และอันที่จริงเมื่อปี 2019 ซึ่งทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก เม็กซิโกก็เคยส่งทหาร 1.5 หมื่นนายไปประจำชายแดน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเก็บภาษีมาแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด

ADVERTISMENT

ถึงแม้ทรัมป์จะพูดย้ำแล้วย้ำอีกว่าภาษีเป็นเครื่องมือ “ทรงพลังที่สุด” ในการทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเติบโต โดยไม่สนใจคำเตือนนักเศรษฐศาสตร์ ว่าจะทำให้ผู้บริโภคอเมริกันลำบาก เพราะราคาสินค้าต่าง ๆ จะสูงขึ้น เงินเฟ้อขยับขึ้น และในที่สุดเศรษฐกิจทั้งโลกย่ำแย่ แต่สิ่งที่ทรัมป์ปฏิเสธไม่ได้คือ ของจริงที่เกิดขึ้นในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ เมื่อตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งลงอย่างหนักเกือบ 700 จุด และหลังจากทราบข่าวการเลื่อนเก็บภาษีนั่นเอง ตลาดหุ้นจึงฟื้นกลับมาเหลือติดลบเพียงเล็กน้อย

ยังไม่นับรวมความเคลื่อนไหวอย่างอุ่นหนาฝาคั่งของธุรกิจทุกภาคส่วนทั่วสหรัฐ ที่ออกแถลงการณ์คัดค้านการเก็บภาษีเม็กซิโกและแคนาดา ไม่เว้นแม้กระทั่งวงการบันเทิงฮอลลีวูด ที่เกรงว่าวงการหนังอเมริกันจะพังไปด้วย หากถูกแคนาดาตอบโต้ เพราะที่ผ่านมาฮอลลีวูดใช้แคนาดาเป็นโลเกชั่นถ่ายทำ และยังได้ประโยชน์จากการยกเว้นภาษีด้วย

บทวิเคราะห์ของซีเอ็นเอ็นระบุว่า นี่คืออเมริกาที่ตกอยู่ในความโกลาหล ภายใต้การนำของคนกระหายสงครามการค้า ประธานาธิบดีที่ไม่ใช่ทั้งนักเศรษฐศาสตร์ อีกทั้งไม่ใช่ผู้จัดการที่ดี ทรัมป์เชื่อในการเก็บภาษีศุลกากร ว่าจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเติบโต จนกระทั่ง “วอลล์สตรีต” (ตลาดหุ้น) ได้พิสูจน์ให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เขาเชื่อนั้น “ไม่จริง”

ลอว์เรนซ์ ไวต์ อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า การเก็บภาษีศุลกากรในตัวอาจไม่ทำลายเศรษฐกิจโลก แต่ความไม่แน่นอนที่สะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการใช้คำสั่งฝ่ายบริหารอย่างมากมาย และทำลายบรรทัดฐานประชาธิปไตย จะทำให้เกิดความไม่เชื่อถือในระยะยาวต่อสหรัฐอเมริกา ในฐานะประเทศที่รักษามาตรฐานเสถียรภาพเศรษฐกิจ

ไวต์ระบุว่า ตอนนี้เกิดความกลัวว่าจุดยืนด้านการค้าของทรัมป์ 2 จะนำไปสู่การกีดกันการค้าที่เร่งตัวขึ้น และทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกอ่อนแอลงมาก ถึงแม้จะไม่ร้ายแรงเท่ากับเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่เหมือนทศวรรษ 1930 แต่อาจจะทำให้สถานการณ์ในปัจจุบันแย่ลง

ทางด้านสหภาพยุโรป 27 ประเทศ ซึ่งเป็นเป้าหมายรายต่อไปที่ทรัมป์ขู่จะเก็บภาษี โดยอ้างว่าสหรัฐขาดดุลการค้าถึง 3 แสนล้านดอลลาร์ กล่าวหาว่าสหภาพยุโรปไม่ซื้อสินค้าอะไรจากอเมริกาเลยนั้น ถูกนักวิชาการอย่างโอเรลีแยง ซอสเซย์ แห่งสถาบันวิจัยในลอนดอน โต้แย้งว่า คำกล่าวอ้างของทรัมป์เรื่องขาดดุลไม่ยุติธรรมและไม่มีหลักฐานสนับสนุน การที่สหรัฐขาดดุลกับสหภาพยุโรปมีที่มาที่ไป และเป็นเพราะความแตกต่างของต้นทุนการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดี

และคนอเมริกันก็ชื่นชอบสินค้ายุโรปหลายอย่างมากกว่า เพราะในอเมริกามีทางเลือกให้กับผู้บริโภคน้อยกว่า ทั้งราคาดึงดูดใจน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าต่างประเทศ ยุโรปไม่ได้มีปัญหา หรือทำสิ่งใดที่ไม่แฟร์เลยในอเมริกา ไม่ว่าจะเรื่องอุดหนุนอย่างผิดกฎหมาย หรือเรื่องภาษี

ซอสเซย์ชี้ว่า การนำการผลิตกลับมาสู่อเมริกา ผ่านการขึ้นภาษีศุลกากรหนัก ๆ เป็นสิ่งที่ทรัมป์รณรงค์หาเสียงตลอดการเลือกตั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา และจะเห็นว่ากลุ่มที่โหวตให้เขาอย่างท่วมท้นเป็นรัฐที่อยู่ในเขตอุตสาหกรรมถดถอย ดังนั้น แรงจูงใจของทรัมป์ในการใช้มาตรการกีดกันการค้าจึงเชื่อมโยงโดยตรงกับอนาคตทางการเมืองของเขา